ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบผลการศึกษาออกแบบ เอกสารประกวดราคา และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. แล้วเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา

รฟม. วางไทม์ไลน์โครงการไว้หลังจากนี้ จะเสนอกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา ก่อนเสนอคณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ ประมาณเดือน ก.พ. 2567 มีแผนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน PPP ช่วงประมาณเดือน ก.ย. 2567-ก.ย. 2568

คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการฯ ได้ประมาณเดือน ต.ค. 2568 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และเปิดบริการประชาชนได้ประมาณเดือน ต.ค. 2571

รถไฟฟ้าสายใหม่ “สีน้ำตาล” มีรูปแบบเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) โครงสร้างยกระดับตลอดเส้นทาง มี 20 สถานี วงเงินลงทุน 49,865 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,254 ล้านบาท, งานก่อสร้าง 18,544 ล้านบาท, งานระบบ 16,351 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาโครงการ 1,396 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) 6,320 ล้านบาท

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล มีจุดเริ่มต้นเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูบริเวณแยกแคราย วิ่งไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน จนถึงแยกบางเขนเชื่อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วลอดใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ข้ามถนนวิภาวดีรังสิตจนถึงแยกเกษตร ก่อนยกระดับข้ามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว วิ่งต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกฉลองรัชเชื่อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ยาวไปจนถึงแยกนวมินทร์ ก่อนเลี้ยวลงทางทิศใต้ไปตามแนวถนนนวมินทร์จนถึงแยกสวนสน สถานีปลายทางเชื่อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลือง

รถไฟฟ้าสายใหม่ จะเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าหลากสีสายอื่น 7 เส้นทาง ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อมสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อมสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อมสายสีเหลืองและสีส้ม คาดการณ์ปีแรกของการเปิดบริการ จะมีปริมาณผู้โดยสารราว 2.18 แสนคนเที่ยวต่อวัน

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล มีที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามแนวเส้นทาง สถานี และศูนย์ซ่อมบำรุงรวม 436 แปลง พื้นที่ประมาณ 67 ไร่ 1 งาน 52.3 ตารางวา และต้องรื้อถอนอาคาร รวมถึงสิ่งปลูกสร้างประมาณ 232 หลัง รฟม. จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืน และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540

ทั้งนี้ แนวเส้นทางช่วงถนนประเสริฐมนูญกิจ จะใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกับ โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายเหนือตอน N2 ช่วงม.เกษตรฯ-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก ระยะทางประมาณ 11.3 กม. วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

โดยสร้างเสาตอม่อทางวิ่งรถไฟฟ้าอยู่ระหว่างเสาตอม่อเดิมของโครงการทางด่วนและอยู่ใต้ทางด่วน เบื้องต้น กทพ. จะก่อสร้างทางด่วน N2 ช่วงเดือน ต.ค. 2567-ก.ย. 2570 ขณะที่ รฟม. จะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเดือน ต.ค. 2568-ก.ย. 2571 ทั้ง 2 หน่วยงานจะวางแผนงานก่อสร้างร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบระหว่างก่อสร้างต่อประชาชนให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อสร้างที่ต้องใช้ร่วมกัน

รัฐบาลชุดที่แล้ว ให้ความสำคัญเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล จึงต้องลุ้นกันว่า รถไฟฟ้าสายใหม่ “สีน้ำตาล” จะได้แค่เพียงแจ้งเกิดไว้ หรือจะได้รับการผลักดันจากรัฐบาลชุดใหม่ ให้ก่อสร้างได้จนสำเร็จลุล่วง

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…