มองไกล เห็นใกล้ สัปดาห์นี้ …เป็นเวลากว่าสองเดือนที่คนใน “29 จังหวัดสีแดงเข้ม” ต้องทนอยู่กับ “ล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว” หลัง ศบค.ประกาศมาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะโควิด-19
การประกาศใช้ “ยาแรง” ระลอกนี้ หลายฝ่ายจับตาถึงทิศทางจะทำให้สถานการณ์ทุเลาเบาบางหรือไม่???? แต่เปล่าเลย..!!! เพราะมันกลับสะท้อนให้เห็นถึง “ความผิดพลาด” ด้วยเหตุที่ “ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หนำซ้ำแย่ลง ตัวเลขผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตเพิ่มทุกวัน จนเกิดเสียงร้อง “ยี้” เพราะเชื่อว่าล็อกดาวน์แก้ปัญหาโควิดไม่ได้ หากไม่มี “วัคซีน” ให้แก่ประชาชนด้วย
ที่สุดวันนี้ ศบค.ประกาศคลายล็อก ให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาเปิดบริการได้ โดยมีเงื่อนไข-กฎเกณฑ์ตาม COVID-FREE Setting ที่ผู้ประกอบการ/พนักงาน ต้องได้รับวัคซีนครบ หรือฉีดครบ 2 เข็ม และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
ขณะที่ผู้รับบริการ/ลูกค้า ต้องมี Green Card ที่ยืนยันว่าได้รับวัคซีนครบ หรือฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน หรือตรวจ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน ต้องมี Yellow Card ยืนยัน นี่ยังไม่รวม “ข้อกำหนด” เปิดให้กินในร้านได้ไม่เกิน 20.00 น., ห้ามดื่มสุรา/แอลกอฮอล์, จำกัดการนั่ง ไม่เกิน 50% ที่นั่งปกติ
สิ้นประกาศเหมือนได้เฮ…แต่ก็เฮได้ไม่สุด เพราะหากดูรายละเอียดเนื้อหา มิต่างอะไรกับการแฝงไปด้วยมุก “ตลกร้าย” ที่สงวนสิทธิ์ไว้เพียง “คนที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม” แล้วเท่านั้น!!!
หากย้อนดูข้อมูลของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปความก้าวหน้าการฉีดวัคซีน พบว่ามีประชากร 8,212,750 ราย ที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม นั่นเท่ากับว่ามีเพียง 11% ของประชากรทั้งหมดที่ได้รับสิทธิ์ใช้บริการเต็มรูปแบบภายใต้เงื่อนไขนี้
เกิดคำถามชวนสงสัยว่า??? แล้วคนที่เหลือ…สามารถนั่งกินในร้านได้หรือไม่??? และต้องรออีกนานแค่ไหน หรือจนกว่ารัฐจะผ่อนปรน การที่รัฐบาลออกแนวทางแบบ “สงวนสิทธิ์” เช่นนี้ มิต่างอะไรกับการประจานความผิดพลาดของตัวเอง เพราะ…
มิใช่ท่านหรือที่จัดสรรวัคซีนล่าช้า…บางรายเพิ่งได้ฉีดเข็มแรก..กว่าจะได้เข็มสองก็ปาไปเดือน พ.ย. หนำซ้ำการออกมาตรการแบบนี้มิต่างอะไรกับการขายฝัน เพราะหากใช้เงื่อนไขนี้จริง เชื่อได้เลยว่าร้านค้ากลับมาเปิดให้บริการไม่ถึงครึ่ง ปัจจุบันพบว่าพนักงานร้านอาหารส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม ส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม มีน้อยมาก คนจำนวนมากจึงตกเกณฑ์ ขณะที่การตรวจด้วย ATK ทุกสัปดาห์ ล้วนเพิ่มภาระซ้ำเติมค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการ เหตุที่ราคาชุดตรวจตามท้องตลาดยังสูงอยู่ที่ 200-300 บาท/ชุด ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่พอมีทุนก็ไม่มีปัญหา แต่ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย หรือลูกจ้างตัวเล็กเองหรือเปล่าที่ต้องดิ้นรนซื้อที่ตรวจเองแลกกับการ “ไม่ตกงาน”
ฝากถึงท่านผู้ทรงเกียรติ…ลำพังแค่หากินวันต่อวันก็ลำบากพอแล้ว อย่าสร้างเงื่อนไขอะไรให้ยุ่งยากอีกเลย จะคิดจะทำอะไรตรองกันให้ดี อย่าให้ใครว่าได้ว่า….ผนงรจตกม สวัสดี!!!!
นายอัคคี