…นี่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น ที่ส่งผลต่อชีวิต นากในไทย ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำฝั่งอันดามัน 5 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเรื่องนี้ก็จำเป็นจะต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน!!…

เพื่อให้ “มนุษย์-นาก” อยู่ร่วมกันได้…

โดยไม่เกิดปัญหา “พิพาทในเชิงพื้นที่”

ด้วยการส่งเสริมความรู้ชุมชนที่มีปัญหา

ทั้งนี้ “ภัยคุกคามนากไทย” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ มีที่มาจากการเปิดเผยไว้โดย ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ และ อนุชา ขำจริง นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้มีการทำวิจัย “โครงการประเมินภัยคุกคามและการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นากอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทยฝั่งอันดามัน” ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนโดย สกสว. และมูลนิธิกระจกอาซาฮี โดยเป้าหมายการวิจัยก็เพื่อ “ศึกษาภัยคุกคามต่อประชากรนากในธรรมชาติ” เพื่อ…

ประเมินระดับภัยคุกคามที่เกิดกับนาก

เสนอ “แนวทางการจัดการที่เหมาะสม”

ทางผู้วิจัยได้เปิดเผยไว้ว่า…การประเมินภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของ “นาก” ในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล พบว่า…นากที่มีจำนวนมากที่สุดในพื้นที่มีอยู่ 2 ชนิด คือ 1.นากเล็กเล็บสั้น และ 2.นากใหญ่ขนเรียบ ซึ่งในอดีต ในพื้นที่จะมีทัศนคติที่ดีต่อนากและเข้าใจธรรมชาติของนาก ประกอบกับในอดีตพื้นที่นี้ เคยมีป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สมบูรณ์ ทำให้อาหารในธรรมชาติมีเพียงพอ นากจึงไม่ค่อยมีปัญหา แต่หลังกิจกรรมมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเปลี่ยนไป จนมีการขยายพื้นที่ทำกินออกไปมากขึ้น ส่งผลให้ป่าชายเลนลดลง จนนากต้องออกมาหากินนอกพื้นที่

“พอแหล่งอาหารลด นากก็ต้องออกมาหาอาหารนอกพื้นที่จนขัดแย้งกับคน แต่ปัญหาไม่รุนแรงนัก เนื่องจากชาวบ้านรู้ว่าเป็นธรรมชาติของนาก และไม่ได้รบกวนบ่อยจนกระทบรายได้ แค่ต้องหาวิธีป้องกัน โดยการจับนากก็เป็นหนึ่งในวิธี” …ทาง ผศ.ดร.นฤมล ระบุถึงกรณีที่ “นากถูกจับไปเลี้ยง” เพื่อไม่ให้รบกวนกิจกรรมของชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม การจับนากเพื่อป้องกันไม่ให้นากรบกวนการผลิตของมนุษย์นั้น เรื่องนี้ก็ส่วนหนึ่ง มีอีกปัจจัยหนึ่งที่กลายเป็น “ภัยคุกคามนากที่รุนแรง” นั่นคือ “การจับนากในธรรมชาติไปขายเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง” ซึ่งเกิดจากกระแสโซเชียล ที่มีการเผยแพร่คลิป “ความน่ารักของนาก” โดยปัจจัยนี้ อนุชา หนึ่งในนักวิจัย มจธ. ที่ร่วมศึกษาเรื่องนี้ สะท้อนไว้ว่า…ระหว่างเดือน พ.ย. 2563 ถึง ก.ค. 2564 มีนาก 67 ตัว ถูกนำไปเลี้ยง ซึ่ง “กระแสนิยมเลี้ยงนาก” ในปัจจุบัน เกิดจากมีผู้นำคลิปที่โชว์ความน่ารักของนากไปเผยแพร่ลงสื่อโซเชียล จนกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการเลี้ยงนากมากขึ้น จนมีการ…

“จับนากธรรมชาติไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง”

เป็น “ผลจากกระแสคลิปน่ารักของนาก”

ทั้งนี้ นักวิจัยคนเดิมยังระบุไว้อีกว่า… ชนิดนากในธรรมชาติที่ถูกจับไปเป็นสัตว์เลี้ยงมากที่สุด คือนากเล็กเล็บสั้น โดยตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2562 พบว่า…มีนากเล็กเล็บสั้นในธรรมชาติถูกจับไปขายหรือเป็นสัตว์เลี้ยงแล้ว 179 ตัว ซึ่งกระแสการเลี้ยงนากนี้ ส่วนหนึ่งมาจากคลิปความน่ารักของนากที่มีการเผยแพร่ในสื่อโซเชียล ทำให้เกิดกระแสนี้ขึ้น โดยที่ความจริง สิ่งที่คนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงนาก คือเมื่อนากโตขึ้นก็ไม่ได้น่ารักเหมือนลูกนากอย่างที่เห็นในคลิป และที่อันตราย ที่ส่งผลต่อชีวิตของ “นาก” อีกเรื่องหนึ่งคือ อาหารที่มนุษย์นำมาใช้เลี้ยงนากนั้น ไม่ใช่อาหารที่เหมือนกับอาหารในธรรมชาติของนาก

“อาหารที่คนเลี้ยงให้นั้น ไม่ใช่ปลา ปู หรือกุ้งสด แต่เป็นอาหารทั่วไป เช่น ข้าว ไข่ทอด ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ไส้กรอก หรืออาหารแมว ซึ่งนอกจากทำให้อ้วนแล้ว ยังทำให้อายุสั้น จนไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ และการลักลอบนำออกมาจากพื้นที่ธรรมชาติ ยังส่งผลทำให้ประชากรนากในธรรมชาติลดลงอีกด้วย” …นักวิจัยระบุปัญหาที่เกิดขึ้น…

ที่กลายเป็น ภัยคุกคามสำคัญของนาก

ในช่วงท้ายของรายงานผลการศึกษาวิจัยปัญหาเรื่องนี้ คณะผู้วิจัยได้มีการเน้นย้ำไว้ว่า…นอกเหนือจากการศึกษาเพื่อหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสม เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์ “นาก” สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำภาคใต้ ให้สามารถอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์อย่างยั่งยืนแล้ว การทำให้สังคมไทยตระหนักว่า “นากไม่ใช่สัตว์เลี้ยง” ก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง เพื่อให้สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดนี้ สามารถ ทำหน้าที่ในธรรมชาติ ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศชายฝั่ง ที่สมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรให้คนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป …นี่เป็นเป้าหมายสำคัญเรื่องนี้…

“หยุดซื้อนากเป็นสัตว์เลี้ยง-การจับขาย”

“อนุรักษ์นาก” ให้ “คงอยู่ในธรรมชาติ”

ให้ “ธรรมชาติสมบูรณ์…เพื่อมนุษย์”.