นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศประเมินตนเองผ่านแบบประเมินตนเอง ไทย สต็อบ โควิด พลัส และไทย เซฟไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยกำหนดส่งภายใน 30 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า โรงงานได้ส่งแบบประเมินแล้ว 14,909 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 23.29% ของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 64,000 แห่ง โดยโรงงานที่ส่งแบบประเมิน แบ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก 8,216 แห่ง คิดเป็น 55% ขนาดกลาง 3,467 แห่ง คิดเป็น 23% และขนาดใหญ่ 3,225 แห่ง คิดเป็น 22% ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนกรมโรงงานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เหลือต่อไป

ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 3 ไตรมาสในปีงบประมาณ 64 (ต.ค. 63-มิ.ย. 64) ของ กรอ. มีการประกอบกิจการโรงงานใหม่และขยายโรงงานใหม่ 2,103 โรงงาน ลดลง 22.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  ขณะที่มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 294,793.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.57% จากปีก่อนมี เนื่องจากบางโรงงานแจ้งขยายและเริ่มลงทุนปีก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ลงทุนหรือขยายในปีนั้น โดยมาขยายและลงทุนปีนี้แทน

ทั้งนี้ แบ่งเป็นการประกอบกิจการโรงงานใหม่ 1,894 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 225,710.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.24%  ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์โลหะ และเป็นการขยายโรงงานใหม่มี 209 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 69,083.30 ล้านบาท ลดลง 54.28% ส่วนภาพรวมการจ้างงาน พบว่า เกิดการจ้างงานรวม 90,568 คน แบ่งเป็นการจ้างงานในกิจการโรงงานใหม่ 58,765 คน และในกิจการที่ขยายโรงงานมีการจ้างงาน 35,663 คน ขณะที่มีการเลิกประกอบกิจการโรงงาน 567 โรงงาน ลดลง 9.71% คิดเป็นมูลค่า 29,541.10 ล้านบาท ลดลง 34.61%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า แม้จะเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ภาพรวมของการประกอบกิจการโรงงานยังสามารถไปต่อได้ ทั้งการตั้งโรงงานใหม่และการขยายโรงงาน สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิดในหลายๆ ประเทศ ในส่วนของประเทศไทย คาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น