ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) แล้วในปี 2567-2568 เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 20% ของประชากรทั้งหมด โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หลังเกษียณมีสัดส่วนถึง 21.1% และมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีมากถึง 84.2%

สอดคล้องกับผลสำรวจจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าคนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บเพื่อการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท ดังนั้น ก่อนที่เราจะเกษียณ ควรวางแผนทางการเงิน เพื่อจัดสรรเงินของเราเอาไว้ จุดมุ่งหมายใช้หลังเกษียณ โดยเฉพาะวางแผนการเงิน แบบฉบับ “พนักงานประจำ” หรือมนุษย์เงินเดือน

วางแผนการเงิน เตรียมตัวเกษียณ “กลุ่มอาชีพพนักงานประจำ” ทำได้ง่ายๆ ดังนี้
1. การไม่พึ่งพิงรายได้ทางเดียวโดยหากิจกรรมที่ชอบเพื่อสร้างรายได้
2. ควรทำประกันสุขภาพให้เพียงพอเพื่อรองรับชีวิตหลังการเกษียณ
3. ทำประกันบำนาญเพื่อช่วยจัดการค่าใช้จ่ายคงที่
4. ศึกษาและวางแผนจัดการภาษีก่อนและหลังเกษียณ
5. จัดพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณอย่างเหมาะสม

การวางแผนทางการเงินเริ่มต้นได้จากวิธีนี้!

  • การทำบัญชีรายรับรายจ่าย
  • ตั้งเป้าหมายเงินออม
  • เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
  • วางแผนประกันภัย เพื่อปกป้องความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
  • ไม่ก่อหนี้เกินตัวและรีบแก้ไขเมื่อมีหนี้เกินตัว
  • แยกหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน-คอนโดฯ ออกจากหนี้เลวจากการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น
  • เริ่มต้นวางแผนเกษียณให้เร็วที่สุด
  • จัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมและหมั่นหาความรู้อยู่เสมอ

ควรวางแผนลดหย่อนภาษีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น

  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นำมาใช้ลดหย่อน ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ /กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) นำมาใช้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้หรือไม่เกิน 300,000 บาท

หลังจากเกษียณอายุ ควรแบ่งการลงทุนเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. กลุ่มความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในระยะ 0-3 ปี เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ระยะสั้น คาดหวังผลตอบแทน 0.25-1.5%
2. กลุ่มความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในอีก 4-7 ปี เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ คาดหวังผลตอบแทน 4%
3. กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง-สูง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงเกินกว่า 7 ปีข้างหน้า เช่น พอร์ตกองทุน คาดหวังผลตอบแทน 6%

อย่างไรก็ตาม พอร์ตการลงทุนในกลุ่มที่ 2 เมื่ออายุถึง 82 ปี และกลุ่มที่ 3 เมื่อมีอายุถึง 86 ปี ให้ย้ายเงินลงทุนมายังกลุ่มเสี่ยงต่ำทั้งหมดและคงไว้ตลอดชีวิต

ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) และ นักวางแผนการเงิน CFP