ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย หรือพีดีพี รับซื้อเพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (นํ้าเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ ยังเป็นที่น่ากังขาของภาคเอกชน เพราะปริมาณรับซื้อของเดิม 5,203 เมกะวัตต์ ยังเคลียร์ไม่จบดี จะรีบออกของใหม่ 3,668 เมกะวัตต์ มาอีกทำไมครับ ?

ที่สำคัญตอนนี้ปริมาณซัพพลายของโรงไฟฟ้าเดิม เกินความต้องการถึง 54% ยิ่งสร้างภาระให้ค่าเอฟทีอีกมากมาย !!!

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เอกชนหลายรายไม่สบายใจ ต่อโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อัตราคงที่ 5,203 เมกะวัตต์ จากกระบวนการคัดเลือกที่อาจไม่โปร่งใส แทนที่จะเปิดประมูลแข่งขันกันเสนอราคาตามกลไกตลาด แต่กลับใช้ระบบการให้คะแนนโดยใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ
ซึ่งเป็นที่น่ากังวลต่อความเป็นธรรม จนนำไปสู่ กระบวนการที่ผู้ประกอบการ กว่า 10 ราย มีการยื่นร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีการคุ้มครองชั่วคราว

ทั้งนี้ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบวิธีการเปิดประมูล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เสนอราคาเข้ามาแข่งขันกัน ใครเสนอราคาตํ่าสุดเป็นผู้ชนะ แต่ถ้ามีหลายบริษัทเสนอราคามาเท่ากัน ให้พิจารณาคุณสมบัติเป็นราย ๆ ไปว่า บริษัทไหนมีความเหมาะสม

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการตั้งข้อสังเกต และการยื่นร้องต่อศาลปกครองก็ตาม ภาครัฐ โดยกพช. เมื่อการประชุมครั้งล่าสุดวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา กลับมีมติให้รับซื้อไฟฟ้าสีเขียว เพิ่มอีก 3,668 เมกะวัตต์ โดยกระบวนการแบบเดิมทั้ง ๆ ที่โครงการเดิม 5,203 เมกะวัตต์ ยังมีปัญหา มีการฟ้องร้องถึงศาลปกครอง รวมถึงช่วงนี้เป็นปลายเทอมของรัฐบาล ไม่สมควรเร่งรีบโครงการ จนเป็นที่กังขา เพราะการอนุมัติครั้งนี้ เป็นการอนุมัติก่อนการเลือกตั้ง เป็นการทิ้งทวนหรือไม่ ที่สำคัญปริมาณซัพพลายเดิมของโรงไฟฟ้า ก็มีเกินถึง 54%
จริง ๆ แล้วควรทบทวนให้รอบคอบ ก่อนเดินหน้าใด ๆ ใช่หรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นการตั้งคำถามของสังคมโดยทั่วไปว่า ไฟฟ้าสีเขียว ไฟเขียวจากใคร? กันแน่.