…เป็นประเด็น “ปัญหา” เกี่ยวกับ “โลมาอิรวดี” ที่นำสู่เป้าหมายสำคัญ โครงการ “การประเมินผลกระทบกิจกรรมมนุษย์ต่อโครงสร้างประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของโลมาอิรวดี” เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนโลมาอิรวดีที่กำลังตกอยู่ภายใต้ “สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง!!” โดยพบแนวโน้มลดจำนวนลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีมานี้ จนเกิดโครงการนี้ขึ้นมา…

ศึกษาและค้นหา “เครื่องมืออนุรักษ์”

เพื่อ “ฝูงโลมาอิรวดี” ที่ขณะนี้ “เสี่ยงสูง”

โดยมี “เทคนิค eDNA” เป็น “ความหวัง”

เกี่ยวกับโครงการที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้…เป็น ความร่วมมือของนักวิชาการหลายสถาบัน ได้แก่… ศูนย์วิจัย Conservation Ecology และคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี  มจธ., คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้การสนับสนุนโดย ทุนวิจัยอาซาฮี เพื่อ ค้นหา “แนวทาง” ในการ “อนุรักษ์ประชากรโลมาอิรวดี” จากผลกระทบของกิจกรรมมนุษย์ ในไทยและอินโดนีเซีย โดยมี ดร.วรธา กลิ่นสวาท เป็นหนึ่งในคณะทำงาน

ทั้งนี้ ดร.วรธา ให้ข้อมูลโครงการนี้ไว้โดยระบุว่า…พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ กลุ่มสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม นั่นคือ กลุ่มวาฬ และโลมา ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญทางระบบนิเวศ ทั้งการ กักเก็บและหมุนเวียนธาตุอาหาร และคงความสมดุลของระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม สัตว์กลุ่มนี้กำลัง “เผชิญภัยคุกคาม” จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และจากกิจกรรมของมนุษย์ จนส่งผลทำให้ประชากรลดลง ซึ่งหนึ่งในสัตว์กลุ่มนี้ที่ “น่าห่วงที่สุด” เพราะ “เข้าขั้นวิกฤติ” และ “เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” คือ…

“โลมาอิรวดี” ทั้งในไทย และอินโดนีเซีย

ทางนักวิชาการหนึ่งในคณะทำงานโครงการนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า… โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายในการศึกษาและค้นหาแนวทาง “ช่วยเหลือโลมาอิรวดี” ในพื้นที่ประเทศไทยและอินโดนีเซีย โดยวัตถุประสงค์โครงการคือประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลมาอิรวดี หลังมีแนวโน้มโลมาอิรวดีมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง และอาจจะ “ถูกตัดขาดเป็นหย่อมประชากร” ซึ่งจะส่งผลให้ “ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลงจากการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด” ภายในเครือญาติ นำสู่การ “สูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม” ตลอดจน “ลดโอกาสปรับตัวอยู่รอดระยะยาว” ของโลมาอิรวดีในอนาคตด้วย…

“นอกจากการติดและกินเครื่องมือประมง… อุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับเรือ การสูญเสียถิ่นอาศัย และระดับเสียงรบกวนที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมพัฒนารอบ ๆ ถิ่นอาศัย ส่งผลให้ฝูงโลมามีขนาดเล็กลง จนเกิดการผสมพันธุ์ในเครือญาติ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นภัยคุกคามทางพันธุกรรม เพราะทำให้ลูกโลมาที่เกิดมามีอัตรารอดชีวิตต่ำ” …นี่เป็นข้อกังวล

ข้อกังวลที่พบจากผลการศึกษาเบื้องต้น

ที่ถือเป็นอีก “ปัจจัยเสี่ยงทำให้สูญพันธุ์!!”

จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “โลมาอิรวดี” โครงการนี้ได้เร่งทำการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดขั้น โดยเร่ง เก็บข้อมูลทั้งด้านพันธุศาสตร์ นิเวศวิทยา ประชากรศาสตร์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการระบุปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเลือกใช้พื้นที่อาศัย และเพื่อที่จะสามารถ “พยากรณ์แนวโน้มพฤติกรรมของโลมาอิรวดีในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป” ในระยะยาว เพื่อที่ภาครัฐจะได้นำไปใช้ประกอบในการวางแผนฟื้นฟูประชากรและถิ่นอาศัย “โลมาอิรวดี” ที่เป็น “สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่สุด” อีกชนิดในเวลานี้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการเก็บตัวอย่างต้องอาศัยเวลานาน และอาจไม่ทันท่วงทีต่อการสร้างฐานข้อมูล เพื่อให้ภาครัฐนำไปใช้ประกอบการวางแผนฟื้นฟูประชากรและถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี ทางทีมวิจัยจึงได้ พัฒนาเครื่องมือเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ (Ecological Monitoring) ที่เป็น “เทคนิคตรวจจับ environmental DNA (eDNA)” เพื่อให้ทราบว่า… กลุ่มโลมา รวมถึงวาฬ และพะยูน มีการใช้พื้นที่และกระจายตัวอยู่บริเวณใดบ้าง ซึ่งข้อดีของ “เทคนิค eDNA” คือไม่ต้องพบเห็นตัวสัตว์โดยตรง แต่ ประยุกต์ใช้กับสัตว์กลุ่มที่มีพื้นที่หากินเป็นบริเวณกว้างหรือมีความหนาแน่นต่ำ ได้

“ข้อมูลนี้จะใช้เพื่อประเมินพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง ใช้เพื่อการกำหนดพื้นที่การอนุรักษ์ เพื่อประโยชน์ในการผลักดันมาตรการลดภัยคุกคามให้โลมาอิรวดี นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ต่อวงการพันธุศาสตร์ใน 2 ด้านสำคัญคือ 1.การรวบรวมข้อมูลทางด้านพันธุศาสตร์ 2.เกิดความร่วมมือระดับภาคีเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้าน” …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญของ “ความพยายามในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี” ผ่านทางการ “ใช้เทคนิค eDNA”

ก็น่าสนใจ-น่าตามดูสัมฤทธิผลโครงการ

“ช่วยโลมาอิรวดี” ให้ “พ้นเสี่ยงสูญพันธุ์”

ช่วย “ให้รอดภัยคุกคามทางพันธุกรรม”.