ทั้งนี้ เรื่องผู้สูงอายุในมุมนี้วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุเป็นภาระที่หนักหน่วง สามารถส่งผลกระทบต่อ “ผู้ดูแล” ได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของแต่ละคน ขณะที่สังคม คนทั่วไป มักไม่ค่อยให้ความสนใจ-ความสำคัญกับผู้ดูแลผู้สูงอายุ

“คุณภาพชีวิตของผู้ต้องดูแลผู้สูงอายุ”…

ยุคสังคมผู้สูงอายุ “มุมนี้ก็น่าพิจารณา!!”

ทั้งนี้ ในมุมนี้-กรณีนี้ ในไทยก็กำลังเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการมีผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” นั้นถือว่า “เป็นกลไกสำคัญของแต่ละครอบครัว” ที่จะทำหน้าที่รับภาระ หรือแบ่งเบาความรับผิดชอบจากสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม กับคนกลุ่มนี้ ที่เป็นกลไกสำคัญ กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ “ถูกหลงลืม” จนทำให้ “ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร” ส่งผลทำให้ “ประสบปัญหาทั้งทางกายและใจ” โดยมีผลสำรวจพบว่า…

“ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” ต่างก็ “เผชิญปัญหา”

ภาวะ “อ่อนล้า-หมดไฟ” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ…

จากประเด็นปัญหาในมุมนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “แนวทางเพื่อลดภาวะเหนื่อยล้าของผู้ดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งมี คู่มือ The Caregiving Manual for Caregivers (CMC) เพื่อการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อลดภาวะผู้ดูแลเหนื่อยล้า โดย ดร.กภ.รัตนา เพชรสีทอง และทีมคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ทุนสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) หนึ่งในหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ เพื่อใช้ “ดูแลผู้ดูแลผู้สูงอายุ”

และเกี่ยวกับ “คู่มือดูแลผู้ดูแลผู้สูงอายุ” ที่ว่านี้ ทาง ดร.กภ.รัตนา ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชากายภาพบำบัดชุมชน ผู้สร้างสรรค์และเจ้าของลิขสิทธิ์คู่มือ The Caregiving Manual for Caregivers (CMC) เผยถึงความสำคัญของคู่มือเล่มดังกล่าวนี้ไว้ว่า… นอกจากจะมี กลยุทธ์และแนวทางการดูแลผู้สูงอายุอย่างง่าย ๆ แล้ว ภายในคู่มือเล่มดังกล่าวก็ยังมี “คำแนะนำ” ในการ “พิชิตภาวะเหนื่อยล้าของผู้ดูแลผู้สูงอายุ” อีกด้วย โดยเฉพาะผู้ดูแลที่กำลังประสบปัญหา “หมดไฟ” หรือกำลัง “ท้อถอย” เกี่ยวกับการ “ต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว” …นี่เป็นเป้าหมาย-เนื้อหาสำคัญที่อยู่ในคู่มือเล่มนี้

ผู้สร้างสรรค์คู่มือยังฉายภาพ “ปัญหาของผู้ดูแลผู้สูงอายุ” ไว้ว่า… เมื่อผู้ดูแลถึงจุดที่ต้องมานั่งถามกับตนเองว่า… “จะทำไปเพื่ออะไร?” หรือ “จะต้องทำอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ?” นั่นสะท้อนว่า…ผู้ดูแลผู้สูงอายุกำลังตกอยู่ภายใต้ความรู้สึกที่เหน็ดเหนื่อย ไร้เรี่ยวแรง จนเกิดการตั้งคำถามในใจผู้ดูแลเองว่า…การดูแลผู้สูงอายุกำลังเป็นภาระหรือไม่?? ซึ่งถ้าหากภาวะนี้เกิดขึ้นกับผู้ดูแลที่เป็นญาติใกล้ชิด กรณีนี้ อาจส่งผลลุกลามกลายเป็น “โดมิโนชีวิตครอบครัว” พาให้ผู้สูงอายุล้มตามไปด้วย!!” ซึ่ง… “ตัวช่วยสำคัญ” ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโดมิโนชีวิตล้มทับตาม ๆ กันก็คือ “ผู้ดูแลรอง” ที่เข้ามาทำหน้าที่แทน…

“ผู้ดูแลรอง” จะช่วย “คั่นเวลาวิกฤติ”…

เพื่อให้ผู้ดูแลหลักได้ฟื้นคืนแรง-คืนไฟ

ทาง ดร.กภ.รัตนา ยังสะท้อนไว้ถึงประสบการณ์จากการลงพื้นที่ว่า… พบ “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” ที่ประสบภาวะ “เหนื่อยล้าหมดไฟ” จากการดูแลผู้ป่วยสูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ต้องใช้แรงใจและแรงกายอย่างมากในการประคองเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยลำพังในแต่ละครั้ง จากการที่ ผู้ดูแลส่วนใหญ่ยังขาดทักษะและอุปกรณ์ที่จำเป็น ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางทีมกายภาพบำบัดชุมชนของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเข้าช่วยเหลือด้านกายภาพบำบัด พร้อมมอบ คู่มือ The Caregiving Manual for Caregivers (CMC) ซึ่งจะช่วยลดภาระหนักให้ผู้ดูแลได้ในระดับหนึ่ง

“ในคู่มือ มีวิธีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยผู้สูงอายุที่ปลอดภัย กับ วิธีจัดท่าในการทำกิจวัตรประจำวันที่ถูกต้อง รวมถึงวิธีอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อเสริมสร้างทักษะให้ผู้ดูแล นอกจากนี้ยังมีการประสานไปยัง อสม. ในพื้นที่ให้ เพื่อให้เข้ามาช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรอง เพื่อให้ผู้ดูแลหลักได้มีโอกาสพักสำหรับฟื้นแรงเพื่อกลับมาดูแลผู้ป่วยสูงวัย” …เป็นข้อมูลโดยสังเขปในเรื่องนี้

กับตัวช่วย “ดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ดูแล”

เพื่อจะ “ไม่ล้มตามกันไปทั้งคู่” จนยิ่งยุ่ง!!

อนึ่ง เกี่ยวกับคู่มือนี้นอกจากฉบับภาษาไทยที่จดลิขสิทธิ์แล้ว ยังจะมีภาษาพม่าที่อยู่ระหว่างดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และก็ยังมีแผนจัดทำเพิ่มเติมเป็นภาษาลาว เวียดนาม กัมพูชา ทั้งนี้ทั้งนั้น กับสังคมไทย ก็หวังว่าคู่มือนี้จะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้ได้รับรู้รายละเอียดกันแพร่หลาย ซึ่ง “ผู้ป่วยสูงวัย” นั้น การสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง นอกจากบุคลากรการแพทย์แล้ว ก็ “ต้องให้ความสำคัญกับผู้ดูแลด้วย”

ก็จะต้อง “ป้องกันโดมิโนชีวิตครอบครัว”

“กันล้มตามกัน” เพราะ “ดูแลผู้สูงอายุ”

“ดูแลผู้ดูแล”…ย้ำไว้ว่า…“นี่ก็สำคัญ!!”.