ทั้งที่หลายปีที่แล้วรัฐบาลออกมาประกาศเสียงดังฟังชัดว่า…“ไทยต้องเป็นฮับสตาร์ทอัพ” ในภูมิภาค แต่ดูเหมือนถึงวันนี้เสียงที่เคยดังค่อย ๆ แผ่วหาย และถึงตอนนี้ไทย “มีสตาร์ทอัพที่ก้าวถึงระดับยูนิคอร์นน้อย” จนน่าแปลกใจ?? ซึ่งทำให้เกิด “ปุจฉา??”…

ไฉนสตาร์ทอัพไทยแจ้งเกิดไม่สำเร็จ??

สตาร์ทอัพไทยก้าวไม่ไกลด้วยเหตุใด??

มี “อุปสรรคใดที่ทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน??”

วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “สตาร์ทอัพไทย” ที่มีคำถามถึง “สาเหตุ-ปัจจัย” ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย “ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้มากอย่างที่คิด” ทั้งที่เป็นนโยบายรัฐบาล ถูกดันเป็น “วาระแห่งชาติ” แล้ว ซึ่งกรณีนี้ก็มี “มุมวิเคราะห์” จากภาคเอกชนด้านการวางแผนและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ อย่าง ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ประเทศไทย ที่ได้สะท้อนกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการสตาร์ทอัพไทย “ฉายภาพปัญหา-อุปสรรค” ที่เกิดขึ้น จนทำให้ผู้ประกอบการไทย “ก้าวได้ไม่ไกล-ไปได้ไม่ถึงฝัน” ที่จำเป็นต้องได้รับการ “ปลดล็อกเร่งด่วน” หากจะผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยไปไกล

ทั้งนี้ มุมวิเคราะห์เรื่องนี้ นักวิเคราะห์ของดีลอยท์ฯ ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง สะท้อนไว้ว่า… “ปัญหา” ที่สตาร์ทอัพไทยเผชิญอยู่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ “ปัจจัยพื้นฐานสำคัญ” ที่เป็น “อุปสรรคใหญ่” อย่างเรื่อง “เงินทุนระยะเริ่มต้น (Seed Stage)” ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อสตาร์ทอัพในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีเรื่อง “ระบบนิเวศ” ของสตาร์ทอัพไทย ที่ในมุมมองนักลงทุน หรือเวนเจอร์แคปปิตัล (Venture Capital) ต่างมองว่า… ยังมีขนาดเล็กและยังไม่ได้พัฒนามากเท่าที่ควร ส่งผลให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพไทย …นี่เป็นมุมมองนักวิเคราะห์

สะท้อน “ปัญหาที่เกิดกับสตาร์ทอัพไทย”

Person using tablet

ทางนักวิเคราะห์รายดังกล่าวยังได้เผยไว้ถึง ผลการศึกษาเกี่ยวกับ “อนาคตของไทยสตาร์ทอัพ และ Venture Capital” ที่มีการจัดทำขึ้น โดยพบว่า… สตาร์ทอัพไทยจำนวนมากเผชิญความยากลำบากในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาในการเข้าถึงเงินทุนระยะเริ่มต้นจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ส่งผลให้ขาดแคลนเงินทุนที่ต้องใช้ดำเนินธุรกิจ และนอกจากนั้นจากผลการศึกษาที่อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน ก็พบ “อุปสรรคสำคัญ” หลายประการ ที่อาจเป็นปัจจัยทำให้สตาร์ทอัพไทยไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร ดังนี้…

“ปัญหาการเข้าถึงเงินทุน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินทุนระยะเริ่มต้น โดยสามารถดูได้จากจำนวนรอบระดมทุนของสตาร์ทอัพไทยในระยะเริ่มต้นที่ลดลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2562 คือจากเดิมที่มีจำนวนรอบระดมทุน 33 รอบ แต่ถัดมาเพียงปีเดียว คือปี 2563 มีจำนวนรอบระดมทุนลดลงมามากกว่าครึ่ง โดยหนึ่งในสาเหตุของการลดจำนวนลงนั้นเกิดจากการที่ประเภทธุรกิจของสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นนั้นมีจำนวนลดลง นอกจากนั้น พื้นฐานของตลาดนักลงทุน หรือกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตัลในไทยนั้น มักจะเน้นลงทุนใน “สตาร์ทอัพระยะท้าย (Later Stage)” มากกว่า

“โครงการสนับสนุนจากรัฐไม่เพียงพอ”  จนไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสตาร์ทอัพไทยได้ มูลค่าเงินทุนสนับสนุนของโครงการยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยกตัวอย่างเช่น บางโครงการให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพได้ด้วยเงินทุนเพียง 20,000-150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วสตาร์ทอัพต้องการเงินทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อใช้ดำเนินการสำหรับระยะเวลา 1-2 ปี นอกจากนั้น ยังมี ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำเอกสารและการเบิกจ่ายเงินสนับสนุน ที่ ยังคงมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน

“ขาดที่ปรึกษาในประเทศ” โดยพบว่า ที่ปรึกษาในไทยมีจำนวนจำกัด ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นจากการที่ไทยไม่ได้มีจำนวนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเกิดขึ้นภายในประเทศเยอะ จึงส่งผลให้จำนวนที่ปรึกษาที่สามารถให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพรุ่นใหม่มีจำนวนน้อยตาม ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขเรื่องนี้ เพราะที่ปรึกษามีความจำเป็นต่อการสร้าง “ยูนิคอร์น สตาร์ทอัพ”

ทั้งนี้ กับ “ข้อเสนอแนะในการลดอุปสรรค” ที่เกิดขึ้นนั้น ทาง เคนเนท เทย์ นักวิเคราะห์ของดีลอยท์ฯ อีกคน ชี้ไว้ว่า… จากการศึกษาระบบนิเวศในประเทศต่าง ๆ พบว่า…ระบบนิเวศที่จะประสบความสำเร็จเกิดจากการร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงต้องมีช่องทางการรับแหล่งเงินที่เพียงพอ ซึ่งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐสามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านแนวทางต่อไปนี้…1.จัดตั้งโครงการร่วมลงทุน ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น 2.พิจารณาเพิ่มงบประมาณ ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพ 3.จัดตั้งหน่วยงานและมอบหมายอำนาจให้ชัดเจน ยิ่งขึ้น

“การพัฒนาระบบนิเวศจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างขึ้นได้ชั่วข้ามคืน ถึงกระนั้นก็เชื่อว่าระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาให้เป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ จนสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ รวมถึงดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้อยากที่จะลงทุนเพิ่มมากขึ้น” …เป็นการระบุจากนักวิเคราะห์

ฉายภาพอุปสรรคของ “สตาร์ทอัพไทย”

และชี้ว่า “โอกาสสตาร์ทอัพไทยก็ยังมี”

“แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน”.