แต่ก็แน่นอนเช่นกันที่เมื่อมีผู้ที่ “พฤติกรรมไม่เหมาะสม” แม้จะมีแค่ส่วนน้อย…แต่ก็ส่งผลเสียหายกระทบภาพลักษณ์พระสงฆ์ในภาพรวม ซึ่งสังคมชาวพุทธไทยก็มี “ปุจฉา” ว่า “ไฉนนับวันจึงมีปรากฏไม่หยุดหย่อน??”และที่ก็ปุจฉาเซ็งแซ่เช่นกันคือ “การจัดการผู้ที่เป็นปัญหา” ที่มีหลาย ๆ คนรู้สึกว่ากับหลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้นนั้น “ช้า?-ไม่ทันปัญหา?” แม้ว่าจะมีหลักฐาน…แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องจัดการ “ลงโทษ” ด้วย “กฎหมายพระ” นั้น…

กลับ “ทำได้ไม่รวดเร็ว-ทำได้ไม่เด็ดขาด”

จนหลายคนต้องอุทาน…“อะไรกันนี่???”…

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ปัญหาในวงการพระภิกษุสงฆ์” ในเมืองไทย ที่ระยะหลัง ๆ มานี้มีกระแส “ครึกโครมไม่หยุดหย่อน” หลัง ๆ “เกิดประเด็นอื้ออึงเป็นระยะ ๆ” โดยเฉพาะกรณี “เสพเมถุน” ที่ครึกโครมอื้ออึงร้อนฉ่าบ่อย ๆ นั้น เรื่องนี้วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดูกันในมุมวิชาการอีกครั้ง กับ “งานวิจัยวงการพระภิกษุสงฆ์โดยพระภิกษุสงฆ์” ซึ่งว่าด้วยประเด็น “การละเมิดพระวินัย” ที่ได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับ “การป้องกันการละเมิดพระวินัยของภิกษุ”…

มี “มุมสะท้อน” ต่อ “การแก้ไขปัญหานี้”

กับ “3 ปัจจัย 3 สาเหตุ…ที่น่าพิจารณา”

กรณี “ปัญหาละเมิดพระวินัยของภิกษุ”

สำหรับงานวิจัยพระภิกษุสงฆ์ดังกล่าวนี้ จัดทำไว้โดย พระมหาบุญส่ง สิริภทฺโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ พระมหาอดิเดช สติวโร คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ผลศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการเผยแพร่ใน วารสารพุทธมัคค์ ศูนย์วิจัยธรรมศึกษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563) โดยวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยเรื่องนี้ก็เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการละเมิดพระวินัย ซึ่งก็รวมไปถึงเพื่อที่จะ…

ค้นหา “วิธีป้องกัน” ภิกษุละเมิดพระวินัย

ข้อมูลจากงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ได้มีการสะท้อนถึง “สภาพปัญหาการละเมิดพระวินัยของภิกษุ” เอาไว้ว่า… เรื่องนี้ อาจจะเกิดได้จาก “ปัจจัย 3 ประการ” นั่นคือ…1.การไม่รู้พระวินัย, 2.การไม่ปฏิบัติตามพระวินัย, 3.การตีความพระวินัยต่างกัน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็ อาจจะมี “สาเหตุ 3 ประการ” คือ…1.การศึกษาและการปกครองคณะสงฆ์ หรือ 2.ความสัมพันธ์กับอุบาสก อุบาสิกา และรวมถึง…3.สภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากในอดีต

เป็นการวิเคราะห์เกี่ยวกับ “ปัจจัย-สาเหตุ”

และนอกจากนี้ก็ยังได้มีการชี้ไว้ถึง “อาการ 6 อย่าง” ในการที่จะ “ถือว่าภิกษุนั้นละเมิดพระวินัย” ซึ่งจะต้องมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่… 1.ต้องด้วยไม่ละอาย, 2.ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ, 3.ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง, 4.ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร, 5.ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร, 6.ต้องด้วยลืมสติ

นี่เป็น “อาการที่ถือว่าละเมิดพระวินัย”

ส่วนที่ “ร้ายแรงที่สุดของการละเมิดพระวินัยของพระภิกษุสงฆ์” นั้นก็คือ… การ “ต้องอาบัติปาราชิก” ซึ่งอาบัติกรณีนี้เกี่ยวข้องกับ “ความผิด 4 อย่าง” โดยที่จะ “ทำให้ผู้ละเมิดขาดจากความเป็นภิกษุ ไม่สามารถแก้ไขได้” ซึ่ง 4 อย่าง หรือ “4 สิขาบท” ในงานวิจัยดังกล่าวข้างต้นชี้ไว้ว่า… รายละเอียดในปัจจุบันก็เหมือนสมัยพุทธกาล กล่าวคือ… 1.ภิกษุเสพเมถุน, 2.ภิกษุลักเอาทรัพย์, 3.ภิกษุจงใจฆ่าเองหรือใช้ให้คนอื่นฆ่ามนุษย์ให้ตาย, 4.ภิกษุจงใจอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน เว้นแต่ผู้สำคัญว่าได้บรรลุไม่มีความประสงค์จะอวด วิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน ประสบทุกขเวทนาหนัก

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นเดิมยังมี “ข้อเสนอแนะ” ในการ “แก้ปัญหาละเมิดพระวินัย-ป้องกันต้องอาบัติปาราชิก” เอาไว้ด้วย ซึ่งก็มีหลายวิธี ทั้งการแก้ปัญหาผ่านมาตรการทางพระวินัย การแก้ไขป้องกันด้วยการใช้หลักธรรม ผ่านแนวทางต่าง ๆ… อย่างแนวทางป้องกันกรณี “ลักทรัพย์” เช่น ปลูกฝังให้ภิกษุพยายามไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน ของบุคคลอื่น-วัด รักษาปาริสุทธิศีล 4 ให้บริสุทธิ์ ดำรงชีพด้วยความมักน้อยสันโดษในปัจจัย 4 ถ้าต้องดูแลทรัพย์สินควรมอบหมายให้ไวยาวัจกรหรือกรรมการวัดดูแล โดยตั้

คณะกรรมการและทำบัญชีชัดเจน-ตรวจสอบโปร่งใส, แนวทางป้องกันกรณี “ฆ่ามนุษย์” เช่น ลดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายคนอื่น ถ้าจะมีการจัดกิจกรรมต้องรอบคอบ ไม่ให้กระทบคนอื่น

แนวทางป้องกันกรณี “อวดอุตริ” เช่น หมั่นพิจารณาหน้าที่ของบรรพชิตให้เกิดสมณสัญญา และกรณี “เสพเมถุน” แนวทางป้องกันที่งานวิจัยชี้ไว้ เช่น ปลูกฝังให้ภิกษุยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ สำรวมในกาม รักษาสมณสัญญา มีหิริโอตตัปปะ ไม่ใกล้ชิดสนิทสนมเกินไป รวมทั้งระมัดระวังการใช้คำพูด การให้ความสงเคราะห์ การเกี่ยวข้อง เพราะแม้ใจบริสุทธิ์แต่ก็อาจเป็นที่ครหานินทาได้ …ซึ่งกรณีเสพเมถุนนี่หลัง ๆ ยิ่ง “อื้ออึงร้อนฉ่า!!” โดยที่ “มิใช่มีเพียงกับสตรี!!”

ปัญหา “ละเมิดพระวินัย-อาบัติปาราชิก”

ปัจจัย-สาเหตุ “วิธีป้องกัน…ก็รู้ ๆ กันดี”

แต่ “ไฉนนับวันผ้าเหลืองยิ่งมัวหมอง?”.