เมื่อแอพธนาคารล่ม ยังอยู่คู่กับสถาบันการเงินฉันใดรถไฟฟ้าขัดข้องก็ยังอยู่คู่กับผู้โดยสารฉันนั้น…..ปัญหาที่แก้ไม่ตกและสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้ผู้ใช้บริการบ่อยครั้ง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการเดินทางและใช้ชีวิตประจำวัน

กระทรวงคมนาคม สรุปรายงานเหตุขัดข้องในรถไฟฟ้าเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลล่าสุดประจำเดือน ธ.ค.2565 เกิดเหตุขัดข้อง 6 ครั้ง แบ่งเป็น รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) 3 ครั้ง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) 2 ครั้ง และ รถไฟฟ้าสายสีเขียว 1 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นนอกช่วงเวลาเร่งด่วน 5 ครั้ง และในเวลาเร่งด่วน 1 ครั้ง โดยขัดข้องเล็กน้อย ใช้เวลาแก้ไขไม่นาน หรือเกิดความล่าช้าประมาณ 5-10 นาที 4 ครั้ง ส่วนอีก 2 ครั้งขัดข้องใหญ่ ใช้เวลาแก้ไขนาน หรือเกิดความล่าช้าตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไป

สาเหตุขัดข้องหลักมาจาก โครงสร้างและอุปกรณ์ในเขตราง 3 ครั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ 1 ครั้ง ระบบขับเคลื่อน 1 ครั้ง และระบบเบรก 1 ครั้ง ส่งผลให้การบริการมีความล่าช้ารวม 74 นาที หรือล่าช้าเฉลี่ย 12.34 นาทีต่อครั้ง

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะหน่วยงานกำกับระบบราง รายงานข้อมูลว่า ได้กำชับผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทุกระบบอยู่เสมอ ให้เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาตรวจเช็คสภาพรถ สภาพทาง และอุปกรณ์ พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน และพยายามไม่ให้เกิดเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องในการบริการ และกระทบผู้โดยสารน้อยที่สุด

จากการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบตั้งแต่เดือน พ.ค.-พ.ย. 65 พบว่า การเกิดเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องลดลง โดยเดือน พ.ค. 65 เกิดเหตุขัดข้อง 28 ครั้ง, เดือน มิ.ย. 19 ครั้ง, เดือน ก.ค. 17 ครั้ง, เดือน ส.ค. 12 ครั้ง, เดือน ก.ย. 20 ครั้ง, เดือน ต.ค. 7 ครั้ง, เดือน พ.ย. 3 ครั้ง และเดือน ธ.ค. กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก 6ครั้ง โดยตั้งแต่เดือน ส.ค.-ธ.ค. 65 รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ไม่เกิดเหตุขัดข้องเลย

ส่วนรถไฟฟ้าในระบบอื่นๆ ยังมีเกิดเหตุขัดข้องอยู่ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เกิดเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องบ่อยครั้ง ได้รับการร้องเรียนจากผู้โดยสารค่อนข้างมาก

จากการเก็บข้อมูลเฉพาะรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค. 65 เกิดเหตุขัดข้องรวม 29 ครั้ง เดือน มิ.ย. 4 ครั้ง, เดือน ก.ค. 6 ครั้ง, เดือน ส.ค. 4 ครั้ง, เดือน ก.ย. 9 ครั้ง, เดือน ต.ค. 3 ครั้ง, เดือน พ.ย. 2 ครั้ง และเดือน ธ.ค. 1 ครั้ง นอกจากเกิดขัดข้องในระบบรถไฟฟ้าแล้ว ยังได้รับการร้องเรียนด้วยว่า อากาศภายในขบวนรถค่อนข้างร้อนมากด้วย

กรมการขนส่งทางราง ได้ทำหนังสือกำชับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (AERA1) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (เป็นบริษัทลูกของกลุ่มซีพี ผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน) ภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้ว เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงเรื่องระบบปรับอากาศภายในขบวนรถ ซึ่งในส่วนของระบบปรับอากาศที่ไม่เย็นนั้น ให้บริษัทฯ ดำเนินการดังนี้

1.ทดสอบปรับปริมาณลมจ่ายให้มากยิ่งขึ้น

2.ให้ซ่อมบำรุงระบบทำความเย็นตามวาระที่ผู้ผลิตระบบทำความเย็นกำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งตรวจสอบระบบสารทำความเย็น และความสมบูรณ์ของคอมเพรสเซอร์ หากต้องซ่อมบำรุงวาระหนักให้จัดทำแผนให้ชัดเจนอย่างเร่งด่วน

3.ตรวจสอบภาระการทำความเย็นสูงสุดของการให้บริการ และตรวจสอบขนาดของระบบทำความเย็นให้สอดคล้องกับภาระทำความเย็นสูงสุดในการให้บริการ

นอกจากนี้ได้เสนอให้พิจารณาเปลี่ยนขนาดเครื่องทำความเย็นด้วย โดยปัญหานี้ต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2566 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ขณะเดียวกันยังกำชับให้เร่งเพิ่มตู้ขบวนโดยสาร รองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น (กว่า 6.5 หมื่นคนต่อวัน)

เนื่องจากปัจจุบันมีผู้โดยสาร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจำนวนมาก บริษัทฯ ทยอยนำรถไฟฟ้าขบวนด่วน (express) ไปปรับปรุงให้รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นแล้ว จากเดิมรถไฟด่วน 1 ขบวน มีตู้โดยสาร 3 ตู้ และตู้สัมภาระ 1 ตู้ ปรับเป็นตู้โดยสาร 4 ตู้

ช่วงระหว่างปรับปรุง จะทำให้มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการ 8 ขบวน จากทั้งหมด 9 ขบวน ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารหนาแน่น บริษัทฯ แจ้งว่า จะทยอยปรับปรุงครั้งละ 1 ขบวน และนำกลับมาใช้จนครบทุกขบวนก่อนเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 จะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น และไม่กระทบผู้ใช้บริการมากเกินไป.

ต้องติดตามว่า ปัญหาเหล่านี้ จะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นหรือไม่??…และยกระดับการบริการอย่างไร??…อย่าให้ผู้โดยสารมีภาพจำ…”รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่สุดแห่งความเซ็ง”

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…