วันประวัติศาสตร์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เมื่อ 19 ม.ค. 2566 เปิดใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นสถานีหลักแห่งใหม่ของไทย แทนสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ด้วยการย้ายขบวนรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) รวม 52 ขบวน เข้าใช้สถานีกลางฯ เป็นครั้งแรก

ช่วงบ่ายวันประเดิม รมว.คมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นำคณะผู้บริการกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ตัดริบบิ้นเปิดงานใหญ่ พร้อมปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์และร่วมเดินทางไปกับขบวนรถเส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ด้วยความชื่นมื่น ก่อนจะแยกย้าย

ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งที่ได้ใช้บริการสถานีกลางฯ และยังไม่ได้ใช้บริการ พอใจการเปิดใช้สถานีกลางฯ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางที่ใหญ่สุดของประเทศไทย บนพื้นที่กว้างกวาง 2,475 ไร่ (ขณะที่สถานีหัวลำโพงมีเพียง 120 ไร่) จะได้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ใช้สอยรวมของสถานีกลางฯ 298,200 ตารางเมตร ด้วยงบประมาณก่อสร้าง 34,142 ล้านบาท มากกว่าที่เคยใช้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นอาคาร 5 ชั้น มีห้องน้ำถึง 713 ห้อง สะดวกสบายโอ่โถง ประกอบด้วยชั้นใต้ดินพื้นที่ 72,000 ตารางเมตร จอดรถยนต์ได้ 1,681 คัน จอดรถผู้พิการ 19 คัน รวมทั้งหมด 1,700 คัน ชั้นลอย 12,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ร้านค้า จำหน่ายสินค้าโอท็อป และห้องควบคุมสถานีกลางฯ

ชั้นที่ 1 พื้นที่ 86,000 ตารางเมตร จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร ที่พักคอยและจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRTสายสีน้ำเงิน

ชั้นที่ 2 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นชั้นชานชาลา รองรับรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าสายสีแดง 4 ชานชาลา

ชั้นที่ 3 พื้นที่รวม 67,000 ตารางเมตร เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 ชานชาลา และชานชาลารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) 10 ชานชาลา รวม 24 ชานชาลา รองรับผู้โดยสารได้ 624,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำระดับสากล

ก่อนเปิดใช้สถานีแห่งใหม่ รฟท. มีเวลาเตรียมความพร้อมนานกว่า 1 ปี เพราะก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ ปี 2564 ก่อนกำหนดวันเปิดบริการ ทั้ง รมว.คมนาคม ผู้ว่าการรถไฟฯ และผู้บริการรถไฟฯ ต่างประกาศกับสังคมว่า จะใช้เวลาเตรียมความพร้อม และเมื่อปักธง 19 ม.ค. 2566 วันเปิดบริการขบวนรถทางไกลเข้าใช้สถานีกลางฯ ก็ยังยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้เตรียมความพร้อมเต็มที่ในการอำนวยความสะดวกประชาชน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทางกับคำว่า “พร้อม” หากแค่ปัญหาความขลุกขลัก ในรายละเอียดปลีกย่อย ที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนยังไม่คุ้นชินหรือคุ้นเคย ระบบต่างๆ ที่ รฟท. เตรียมไว้ อาจไม่สมบูรณ์เต็มร้อย ขบวนรถไฟจะล่าช้าบ้าง ก็ย่อมเกิดความผิดพลาดกันได้ แต่การเปิดบริการวันแรก รถไฟทางไกลหลายขบวนเกิดความล่าช้าเสียเวลา 3-5 ชม. อาทิ ขบวนรถด่วนพิเศษ ที่ 13 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เที่ยวเวลา 20.05 น. เรียกผู้โดยสารขึ้นขบวน 21.59 น. ขบวนที่ 107 สถานีกลางฯ-เด่นชัย เวลา 20.45 น. ออกเดินทางเวลา 00.45 น. รวมไปถึงเส้นทางสายใต้ก็ล่าช้า 2-4 ชม. ส่องสะท้อนถึงการบริหารจัดการของผู้บริหารการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม

ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ไม่เห็นภาพผู้บริหารการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามปัญหา (ซึ่งตามปกติแล้ว ถ้าผู้บริการลงพื้นที่ในเหตุการณ์สำคัญๆ ทีมประชาสัมพันธ์ รฟท. จะส่งข่าวแจกรัวๆ ให้ผู้สื่อข่าวรวมทั้งโพสต์เพจเฟซบุ๊กทีมพีอาร์ฯ โชว์การทำงาน) ไม่มีแม้กระทั่งคำชี้แจงอย่างชัดเจนจากผู้บริหา รฟท. ว่าความล่าช้า ที่ประชาชนต้องเสียเวลารอถึง 4 ชม. เต็มๆ เกิดจากสาเหตุใด? ทำไมปัญหาหมักหมมเรื่องรถไฟล่าช้า ประชาชนต้องเสียเวลาโดยไม่มีมาตรการชดเชยใดๆ ถึงแก้ไขไม่ได้เสียที ยังลุกลามมาเกิดขึ้นที่สถานีกลางฯ แห่งใหม่นี้

ประชาชนอยากเห็นผู้บริหารการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม เร่งแก้ไขปัญหารถไฟล่าช้าเสียเวลาที่หมักหมม ซ้ำซาก รวมทั้งยกระดับการบริการของรถไฟไทย มากกว่าการตัดริบบิ้นเปิดงาน จนเกิดวลีเด็ด…. “เปิดใช้สถานีรถไฟแห่งใหม่ แต่นิสัยเดิมๆ”.

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…