ผู้โดยสารระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้า กลับมาใช้บริการในภาพรวมแล้วประมาณ 1.2 ล้านคนต่อวัน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมบันทึกสถิติวันลอยกระทง 8 พ.ย. 2565 มีผู้ใช้บริการถึง 1,466,357 คน สูงที่สุดตั้งแต่มีระบบรางของประเทศไทย

เมื่อรถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนระบบหลัก อำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ภาครัฐจึงขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมมากขึ้น

ตามแผนแม่บท ระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ระยะ 20 ปี (ปี 2553-2572)เปิดบริการแล้ว 11 สายทาง ระยะทางรวม 211.94 กิโลเมตร (กม.) อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 โครงการ 135.80 กม. กำลังประกวดราคา 1 โครงการ 13.40 กม. ดำเนินการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) 6 โครงการ 71.49 กม. และเตรียมความพร้อม 9 โครงการ 120.78 กม.

ซูมรายละเอียดจากแผนแม่บท ข่าวดีของปีนี้ (2566) จะเปิดบริการอีก 2โครงการ รวมระยะทาง 64.90 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง 30.40 กม. และสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี 34.50 กม. จะเพิ่มระยะทางเป็น 276.84 กม.

คมนาคม” เปิดให้ ปชช. ทดลองนั่งรถไฟฟ้าชมพู-เหลืองฟรี 3 เดือน | เดลินิวส์

จากนั้นปี 2568 จะเปิดบริการ 2 โครงการ 25.50 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 22.50 กม.

ปี 2569 เปิดบริการ 3 โครงการ รวมระยะทาง 29.34 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.80 กม., รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 8.84 กม. และสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.70 กม.

รถไฟฟ้า “แอร์พอร์ต เรล ลิงก์” ปรับเวลาปิดให้บริการเป็น 5 ทุ่ม | เดลินิวส์

ปี 2570 เปิดบริการ 2 โครงการ รวมระยะทาง 45.40 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง 21.80 กม. และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.60 กม.

ปี 2571 เปิดบริการ 4 โครงการ รวมระยะทาง 61.40 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 5.76 กม., สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก 20.14 กม., สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ 13.40 กม. และสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี 22.10 กม.

และภายในปี 2572 เปิดบริการ 9 โครงการ รวมระยะทาง 114.93 กม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปู 9.50กม., สายสีเขียว ช่วงลำลูกกา-คูคต 6.50กม., สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กม., สายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย 38 กม., สายสีทอง ช่วงคลองสาน-ประชาธิปก 0.92กม., สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ 16.25กม., สายสีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทร 9.50 กม. และสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-แยกรัชโยธิน 2.60 กม.

เมื่อทุกโครงการเปิดให้บริการตามแผนที่วางไว้ จะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้นเป็น 33 สาย รวมระยะทาง 553.41 กม.

โหลดใช้แอพ DRT crossing ช่วยแก้อุบัติเหตุจุดตัดรถไฟ | เดลินิวส์

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) บอกว่า เพื่อต่อยอด M-MAP ขร. กำลังเร่งโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และ การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2หรือ M-Map 2 ให้ครอบคลุมมากขึ้น เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนในโครงข่ายที่ไม่จำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนให้รวดเร็ว สะดวก และปลอดภัยยิ่งขึ้น

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแบบจำลองฯ โดยนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจการเดินทาง ไปพัฒนาแบบจำลองฯ ประกอบด้วย การสำรวจเส้นทางเลือกการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และการสำรวจการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า ด้วยการสัมภาษณ์ผู้โดยสารที่สถานี การเลือกใช้เส้นทางรถไฟฟ้า การสำรวจการเลือกรูปแบบการเดินทางหลัก สัมภาษณ์ประชาชนที่ป้ายรถโดยสารประจำทาง ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า สถานศึกษา และสถานที่ราชการ

นอกจากนี้ ยังสำรวจการเข้าถึงศูนย์การเดินทาง ทัศนคติต่อการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเดิน/ปั่นจักรยานมายังสถานี รวมทั้งต้องสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนช่วงปกติอีกครั้ง คาดว่าแบบจำลองฯ จะแล้วเสร็จปลายปี 2566

อดใจรอ โครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสี ประเทศไทยจะก้าวสู่มหานครระบบรางติดอันดับโลก แต่สิ่งสำคัญกว่าอันดับโลกคือ ภาครัฐต้องเร่งตั๋วร่วมเพื่อลดค่าแรกเข้าระบบซ้ำซ้อน จัดฟีดเดอร์เชื่อมต่อให้ความสะดวก และทำให้ค่าโดยสารไม่แพง ประชาชนจะได้มีแรงเอื้อมถึงรถไฟฟ้า

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์