ครบรอบ 90 ปีแล้ว การเกิดรัฐธรรมนูญขั้นในประเทศไทย ซึ่งนับตั้งแต่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ที่ถูกประกาศใช้ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ
แต่จนบัดนี้ รัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กลับยังอยู่ในวังวนการถูกฉีดทิ้งหรือการแก้ไข บนพื้นฐานปัจจัยทางการเมือง และล่าสุด ก็ยังมีเสียงกระหึ่มเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นการปิดสวิตช์ ส.ว. ในมาตรา 272 ซึ่งจะกลายเป็นแรงเสียดทานต่อสถานการณ์การเมืองในอนาคต
ปรับโฟกัสมาที่บริบทความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถือได้ว่าเป็นช่วงลีลารำวง แม้จะมีการประกาศส่งสัญญาณลุยต่อในเส้นทางการเมือง กับเวลาที่เหลือในการดำรงตำแหน่งนายกฯ อีก 2 ปี แต่งานนี้ “บิ๊กตู่” เองก็ยังพูดออกมาได้ไม่เต็มปากว่า จะไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ “นั่งร้านอำนาจใหม่” ด้วยมารยาททางการเมือง และส่อมีปัญหาในข้อกฎหมาย เพราะในขณะนี้ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ในโควตาของพรรคพลังประชารัฐอยู่
ทั้งนี้ ไทม์ไลน์ต่อไป “บิ๊กตู่” น่าจะมีความชัดเจนทางการเมืองจริงๆ จังๆ ในช่วงต้นปี 2566 หลังจากที่พรรครวมไทยสร้างชาติจัดไพร่พล เตรียมเก้าอี้แคนดิเดตนายกฯ รอรองรับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงเวลาฤกษ์ดีมีชัยแล้ว “บิ๊กตู่” ก็คงออกมาประกาศย้ายฐานอำนาจไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อย่างเต็มปาก
ขณะที่การจัดทัพเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติ เริ่มมีการเปิดตัวผู้สมัครให้เห็นแล้วในหลายพื้นที่ รวมทั้งกระแสอดีต ส.ส. ทยอยตบเท้าเข้าร่วมคึกคัก ขณะเดียวกันก็กำลังจัดทำนโยบาย โดยยึดแนวทางแก้กฎหมาย เป็นฐานหลักในการเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับประชาชนหากได้เป็นรัฐบาล ซึ่งงานนี้แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความมั่นใจว่าจะมีเสียง ส.ส. มากพอที่จะเสนอชื่อ “บิ๊กตู่” โหวตนั่งตำแหน่งนายกฯ ในสภาได้
นอกจากความไม่ชัดเจนเรื่องนั่งร้านอำนาจของ “บิ๊กตู่” แล้ว สิ่งที่ยังจะต้องจับตามองกันต่อไปก็คือ “โมเดลเข้าฮอสเกมอำนาจ” หลังเลือกตั้ง ด้วยปัจจัยที่ว่า “บิ๊กตู่” สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกได้เพียง 2 ปี ส่วนนายกฯ คนต่อไปจะเป็นใครนั้น คงจะต้องลุ้นระทึกกันอีกรอบ!
โดยตอนนี้ก็มีการพูดถึงโมเดลนายกฯ คนละครึ่ง โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ จับมือกับพรรคภูมิใจไทย จัดตั้งรัฐบาล โดยมีชื่อ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รอเสียบเก้าอี้นายกฯ ต่ออีกในช่วง 2 ปีหลัง แม้ตอนนี้ “เสี่ยหนู” จะยังปฏิเสธไม่เป็นทายาททางการเมืองของใคร และโยนโจทย์ไปหลังเลือกตั้งว่า “ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นตู่ อุ๋งอิ๋ง หนู ป้อม ตุ๋ย มิ่ง และท็อป ต้องหลังเลือกตั้งหมด”
ทั้งนี้ จริงๆ แล้ว เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล จะต้องขึ้นอยู่กับ “คณิตศาสตร์การเมือง” ที่จะต้องนำตัวเลขหลังการเลือกตั้งของแต่ละพรรคมาขยำรวมกัน แล้วชั่งน้ำหนักกัน หากออกทางไหน พรรคของตนได้ประโยชน์สูงสุด ก็คงเลือกทางนั้น
อย่างไรก็ตาม สูตรจัดตั้งรัฐบาลที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ กรณีพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์อันดับหนึ่ง แต่รวมเสียงพรรคอื่นๆ ได้ไม่ถึง 375 เสียง ก็จะกลายเป็นการแพ้ทาง “พี่น้อง 3 ป.” ที่มี ส.ว. ตุนในมือ 250 เสียงอยู่แล้ว ซึ่งหากรวมเสียงพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่น ได้เกินกว่า 125 เสียง ก็จะเกิดปรากฏการณ์พลิกขั้วตั้งรัฐบาลซ้ำรอยการเลือกตั้งปี 2562 อีกครั้งหนึ่ง โดยอาจจะมีชื่อ “พี่ป้อม-น้องตู่” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ภายใต้ขั้วอำนาจรัฐบาลเดิม
ส่วนสูตรที่สอง พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมเสียงกันได้ไม่ถึง 125 เสียง หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส. ไม่ถึงเกณฑ์ 25 เสียง ที่จะมีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้าโหวตในสภา ก็จะเกิดการพลิกเกม โดยพรรคพลังประชารัฐ จะหันมาจับมือกับพรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยสวิงเข้ามาเป็นขั้วผสมระหว่าง พรรคเพื่อไทย-พรรคพลังประชารัฐ-พรรคภูมิใจไทย และจัดตั้งรัฐบาล โดยจะมี กลุ่ม ส.ว. ที่อยู่กับ “บิ๊กป้อม” 100-150 เสียง รอสนับสนุน ขณะที่ “บิ๊กตู่” และพรรครวมไทยสร้างชาติ จะถูกเทไปเป็นฝ่ายค้านแทน
แต่ก่อนที่จะไปถึงสูตรคณิตศาสตร์การเมืองที่ว่านี้ ก็ยังมีประเด็นดราม่าร้อนฉ่า จากกรณี พรรคเพื่อไทย ที่ออกสตาร์ตแบบ “ไปต่อไม่รอใคร” โดยมีการเปิด 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศปี 2570 โดยมี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นำทัพแถลง โยนโจทย์นโยบายสู้ศึกเลือกตั้ง โดยนโยบายที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งแวดวงการเมืองก็คือ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท ซึ่งถึงกับทำเอาหลายฝ่ายดาหน้าออกมาโต้
ไล่ตั้งแต่ “บิ๊กตู่” ที่ออกมาสวนว่า ต้องไปดูว่าทำได้จริงหรือไม่ หลายๆ เรื่องมันไม่ง่ายนักหรอกที่จะทำ วันนี้เราทำโครงสร้างต่างๆ มากมายหลายอย่าง เพื่อให้ไม่มีปัญหาในอนาคต สำทับด้วย “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ออกมาเตือนให้คำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจ และคนการเมืองอีกหลายต่อหลายคน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นติติงนโยบายดังกล่าว
ทำเอาร้อนไปถึง “โทนี่ วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร ออกมาสวนแทนพรรคเพื่อไทยว่า การมีคนออกมาโวยวาย บอกทำไม่ได้หรือเพ้อฝัน บางคนก็ออกมาโวยวายว่า พอกันทีพรรคการเมืองเลิกหาเสียงเรื่องรายได้ขั้นต่ำสักทีนั้น เนื่องจากเข้าใจเศรษฐศาสตร์น้อยไป วันนี้ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยพูดชัดเจนว่า จะทำให้เศรษฐกิจดี ดันเศรษฐกิจไทยให้โตเฉลี่ย 5% พอเศรษฐกิจดี นักธุรกิจมีเงินเยอะ ก็มีเงินจ่ายค่าแรงสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว ไม่ควรเป็นแค่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ แต่ควรมองทั้งระบบ หากมองเพียงมุมมองการขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว โดยไม่มองผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจให้รอบด้าน ก็อาจจะทำให้ประเทศเกิดหายนะตามมา อย่างที่มีคนออกมาเตือนได้ เพราะผลพวงที่ตามมา อาจจะกลายเป็นว่าลูกจ้างบางกลุ่มได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ลูกจ้างส่วนใหญ่ต้องว่างงาน เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่อาจจะย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ค่าแรงถูกกว่าไทย
ทั้งนี้ การเปิดประเด็นค่าแรงในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ออกมาตอบโต้ดราม่าทางการเมืองแล้วจบ แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลจะต้องปูพื้นฐานทำความเข้าใจกับประชาชน ถึงข้อดีข้อเสียการขึ้นค่าแรง และแนวทางที่จะประโยชน์ต่อลูกจ้างมากที่สุด เพราะประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจไปว่า รัฐบาลและคนที่กำลังออกมาตอบโต้นโยบายค่าแรงของพรรคเพื่อไทย กำลังปกป้องนายทุน โดยกดหัวประชาชนด้วยค่าแรงที่ต่ำ ดังนั้น คงจะต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาขนให้ดีว่า ถ้าไม่เอาค่าแรง 600 บาท แล้วสิ่งที่จะเกิดผลดีกับประชาชนมากกว่าคืออะไร หากพรรคฝ่ายรัฐบาลไม่มีคำตอบที่ถูกใจประชาชนในโจทย์นี้ ก็คงไม่สามารถสู้เกมแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยได้
เพราะอย่าลืมว่า ในอดีตเมื่อครั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หาเสียงด้วยนโยบายค่าแรง 300 บาท ทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงถล่มทลายมาแล้วครั้งหนึ่ง ชนิดที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลรักษาการในขณะนั้นแพ้ราบคาบ ดังนั้นการโยนโจทย์ค่าแรง 600 บาทของพรรคเพื่อไทยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ก็มีโอกาสสร้างปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยทางการเมืองให้ได้เห็นกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากการย่างก้าวเข้าสู่สมรภูมิการเมืองของแต่ละพรรคหลังจากนี้ จะวัดกันที่นโยบายหาเสียงเป็นสำคัญ!
ขณะเดียวกันการจัดทัพเลือกตั้งก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอยู่ที่ พรรคพลังประชารัฐ ที่นำทัพโดย “บิ๊กป้อม” ที่ล่าสุดเรียกเสียงฮือฮาทางการเมืองได้ไม่น้อย จากการเปิดตัว มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ เข้ามาเสริมทัพเศรษฐกิจของพรรค แต่งานนี้ก็เกิดรอยสะดุดขึ้นจนได้ เมื่อ มิ่งขวัญ ชิงออกปากประกาศขอเป็น 1 ในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ในวันเปิดตัว จนทำเอาสมาชิกระดับบริหารพรรคของพลังประชารัฐ เปิดหน้าแสดงความไม่พอใจ
ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐเตรียมเปิดตัว นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ในเร็วๆ วันนี้ และที่น่าสนใจมากกว่านั้น สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ออกมาพูดชัดว่า การย้ายพรรคของ มิ่งขวัญ เป็นตัวอย่างของการหนีตายของพรรคเล็ก จากสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ หาร 100 และยังเชื่อว่าจะมีพรรคเล็กอีกหลายพรรคเข้ามาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า การเปิดประตูบ้านรับพรรคเล็กของพรรคพลังประชารัฐ จะช่วยทำให้สถานการณ์ภายในพรรคกลับมาเข้มแข็ง และพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงได้หรือไม่
ท้ายที่สุดนี้ ท่ามกลางการเตรียมการจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งของแต่ละพรรค โดยมีหัวใจสำคัญเรื่องนโยบายหาเสียงที่จะมีการออกมาประชันกันมากขึ้น ประชาชนคงจะต้องใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ดี เพราะนโยบายหาเสียงในวันนี้ อาจจะนำมาซึ่งประโยชน์หรือสร้างความเสียหายต่อประเทศได้เช่นกัน!.