เมื่อวันที่ 10 พ.ย. รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เนื่องจากให้เริ่มนับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ทำให้การดำรงตำแหน่งขาดตอน และอาจจะเข้าข่ายต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2562 มีการอ้างตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 105 โดยมีการยื่นแต่ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม รวมถึงคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์ข้อมูลและประเด็นทั้งหมดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปเรื่องเพื่อนำเสนอแก่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา โดยเบื้องต้นจะพิจารณาลอตแรกก่อนคือ กรณี 6 รัฐมนตรียุค คสช.ที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้งภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้งปี 2562
“ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังสรุปเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ โดยเจ้าหน้าที่จะมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ยังมีอีกหลายชอต อาจมีให้ไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้” รายงานข่าว ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยุค คสช. มาดำรงตำแหน่งต่อเนื่องภายหลังปี 2562 แบ่งข้อเท็จจริงออกเป็น3 กรณี
1.กรณีรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล คสช.มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 ต่อ มีจำนวน 6 ราย ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม (เข้ารับตำแหน่งปี 2560)
2.รัฐมนตรียุค คสช. 15 ราย มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. (ปัจจุบันยังเหลือดำรงตำแหน่ง 12 ราย)
3.อดีต สนช. ระหว่างปี 2557-2561 มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. จำนวน 89 ราย (มี ผบ.เหล่าทัพเป็นโดยตำแหน่ง 6 ราย).