ตอนนี้ปี่กลองเลือกตั้งก็ตีดังแล้ว แต่ก็ยังตีได้ไม่สุด เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้ยังขยับทำอะไรได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะกฎเหล็ก 180 วันที่มีข้อห้ามอะไรต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง ทำให้ขยับตัวกันยังลำบาก

แต่ละพรรคเริ่มมีความเคลื่อนไหวเปิดตัวผู้สมัคร เปิดตัวนโยบาย และที่น่าสนใจคือการจับขั้วทางการเมืองเพื่อเพิ่มคะแนนเสียง หาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกมาว่า การคิดบัญชีรายชื่อต้องหาร 100 …พรรคที่มี ส.ส.อยู่ ณ ปัจจุบันก็ว่าต้องแข่งขันหนักแล้ว พรรคเกิดใหม่ก็เยอะ บางพรรคเกิดใหม่จึงมีแนวคิดเรื่องจับมือรวมพรรคหรือรวมกันไปแล้ว เช่น กรณี นายกรณ์ จาติกวณิช จากพรรคกล้า ยกแก๊งไปรวมกับพรรคชาติพัฒนา เป็นชื่อพรรคใหม่ ชาติพัฒนากล้า ซึ่งคาดว่าจะชูนายกรณ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ (ถ้าจำนวน ส.ส.ถึง 25 คน) ได้ภาพเน้นจุดขายด้านเศรษฐกิจ ส่วนประธานพรรคอย่าง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก็ช่วย “คงดีเอ็นเอ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ก่อตั้งพรรคไว้ และทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านส่งเสริมการกีฬาไทย

ข่าวว่า นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) ที่ออกไปตั้ง พรรคโอกาสไทย ก็จะไปจับมือกับ “อธิบดีเอี้ยง” นายดำรงค์ พิเดช พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย ซึ่งก็จะได้มีตัวขายทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านเศรษฐกิจ และยังมีข่าวที่ พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค อาจจะจับมือกับ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรค สอท. เองก็ไม่ได้มีท่าทีปิดกั้นอะไร ..หรือบางพรรคที่มีบุคลิกชัด ก็มีคะแนนนิยมของตัวเอง อย่างพรรคพลังท้องถิ่นไท นี่มีนโยบายจะดันให้ไทยมีกาสิโน เพื่อการท่องเที่ยวและเก็บภาษีเข้าระบบเพิ่ม คนที่ชอบแนวคิดก็เลือก

บางพรรค จุดขายสำคัญอยู่ที่หัวหน้าพรรค ชัดเจนเลยคือพรรคเสรีรวมไทย ตัวขายคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ซึ่งได้รับคะแนนนิยมไปจมหูในการทำงานฝ่ายค้านในสภาฯ ชนิดที่บางคนว่า “ตรวจสอบดุกว่าองค์กรอิสระอีก” ..อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของแต่ละพรรคคือ “จะชูใครเป็นนายกฯ”  ซึ่งสิ่งที่ลืมไม่ได้คือ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่แคนดิเดตพรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่งจะขึ้นเป็นนายกฯ ได้” แต่ขึ้นอยู่กับการดีลระหว่างพรรค รวมเสียงหลังเลือกตั้ง ให้ได้เป็นเสียง ส.ส.ข้างมาก แล้วไปบวกกับเสียง ส.ว. อีก 250 เสียง ใช้เสียง 376 เสียงเลือกนายกฯ

ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องได้เสียง ส.ส.ข้างมาก ไม่เช่นนั้นงานสภามีปัญหาแน่ เราเห็นมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมาว่า กรณีเสียงปริ่มนั้นกระทบงานสภาขนาดไหน ถึงกระทั่งมี งูเห่า จะซื้อเอาหรือเปลี่ยนอุดมการณ์เองก็..เอาเป็นว่าไม่รู้แล้วกัน ) เพื่อมาช่วยโหวตผ่านกฎหมาย เพราะฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่งเลือกจะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ( ยกเว้นกฎหมายที่เพื่อไทยเห็นด้วย ) ทำให้สภาล่มถี่ๆ ..ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเพื่อไทย ฝ่ายเห็นด้วยเขาก็บอกว่า มันเป็นสิทธิ์ที่จะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม หรือการวอล์คเอาท์  และฝ่ายที่ต้องรักษาองค์ประชุมคือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต่างหาก จน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ต้องขอแรง ขอความร่วมมือให้ ส.ส.พปชร.เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมให้ถึงกึ่ง และให้วิปรัฐบาลประสานงาน

ขณะนี้แต่ละพรรคก็เริ่มมีท่าทีในการจับขั้วกันแล้ว  ก็ดูง่าย ๆ แบ่ง 2 ขั้ว “เอาหรือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม” พรรคที่ประกาศไม่เอา คสช.แน่ ๆ คือ เพื่อไทย ( แต่ก็ยังมีข่าวลือหึ่งว่ามีดีลลับอะไรบางอย่างเพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้าน ซึ่ง อำนาจของ 3 ป.ยังเรียกว่าเป็น“ผู้คุมกฎ” อาจมี ป.ใด ป.หนึ่งต่อรองให้ตัวเอง “ยังได้ไปต่อ” ก็ได้ เรื่องนี้ไม่มีใครตอบได้นอกจากเวลา ) พรรคสร้างอนาคตไทย ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคและอีกสองกุมาร รวมทั้งนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ แกนนำพรรค ประกาศไม่จับขั้วกับ คสช. และพรรคก้าวไกล ที่นอกจากไม่เอาแล้วพยายามจะรื้ออะไรหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับทหาร ทั้งเรื่องการเกณฑ์ทหาร ทหารรับใช้ การใช้ประโยชน์ในที่ทหาร ..นโยบายของพรรคก้าวไกลค่อนข้างโดนใจชนชั้นกลางในเมือง เพราะกลุ่มนี้สนใจเรื่องความเป็นธรรม ความยุติธรรม เรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมค่อนข้างมาก

พรรคที่น่าสนใจมากตอนนี้คือ พรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นพรรคที่ ส.ส.หลายคนที่เริ่มไม่มั่นใจในพรรคตัวเองจะไปอยู่ ข่าวว่าอารมณ์ “เสี่ยหนู  อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคแบบใจถึง พึ่งได้ ..บารมีของ นายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคก็มีมากในอีสานล่างอย่างบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ในส่วนภาคใต้พรรคนี้จะเจาะยางแรงที่สุด จากแรงผลักดันของเจ๊เปี๊ยะ..นางนาที รัชกิจประการ แม่ทัพภาคใต้ ซึ่งแสดงผลงานทำให้พัทลุงจากเมืองผ่านกลายเป็นเมืองชิคๆ ที่หลายคนอยากแวะเชคอิน มีจุดถ่ายรูปมากมาย ..หลายจังหวัดก็หวังจะมีการโปรโมทท่องเที่ยวสถานที่ unseen

พรรคภูมิใจไทยอาจได้เป็นตัวแปรสำคัญในการรวมเสียง ส.ส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อให้ชนะเสียง ส.ว.ต้องรวมเสียง ส.ส.ให้ได้ถึง 376 เสียง ซึ่งเสี่ยหนูก็ระบุว่า จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่อเมื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเท่านั้น ..ข้างฝ่ายพรรคเพื่อไทยนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ออกมาขึงขังจะยื่นยุบพรรคภูมิใจไทยเกี่ยวกับนโยบายกัญชา อีกทั้งจะขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้กัญชา แต่พอมาวันที่ 18 ต.ค.ก็กลับลำเสียงอ่อยว่า เป็นเรื่องที่ยังอยู่ในส่วนของคณะกรรมการสักชุดของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะยื่นหนังสือเอาผิดรัฐมนตรีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังไม่ใช่ข้อสรุปว่าจะยื่นยุบพรรค พร้อมทั้งบอกว่า เสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบพรรค เพราะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย

นั่นคือสัญญาณว่า ภูมิใจไทยยัง“สวยเลือกได้” คือขั้วฝ่ายค้านปัจจุบัน ที่นำโดยเพื่อไทย ยังไม่ปิดทางที่จะขอแรงมารวมเสียงตั้งรัฐบาล ซึ่งถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนปี 62 ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 3 ก็กลายเป็นพรรคที่เลือกได้ เพื่อให้ขั้วเพื่อไทยและอนาคตใหม่รวมเสียงให้ได้มากกว่าขั้วพลังประชารัฐ (พปชร.)  ถึงขนาดมีข่าวว่า หากจะต้องเสนอตำแหน่งเก้าอี้ให้เสี่ยหนูก็คงจะต้องยอม แต่สุดท้ายแล้วภูมิใจไทยก็ไปรวมกับฝ่าย พปชร. ด้วยเหตุผลว่า ยอมรับให้นโยบายหลักของภูมิใจไทยเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือเรื่องกัญชา

สำหรับพรรค พปชร.นั้น ดูเป็นพรรคที่ลูกผีลูกคนที่สุด คือนิ่ง ไม่เสนอนโยบายอะไรใหม่ๆ โดนใจเท่าไร มีแต่ประเภทจะสานต่อของเก่า และทางคนของพรรคก็เชื่อว่า คะแนนนิยมของพรรคยังมีมากในชนบท ..ทิศทางจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ซึ่งว่ากันว่าที่ตอบ “ไม่รู้ๆๆๆ” คือตัดบท แต่ถ้าให้พูดกันจริงๆ แล้วเป็นคนวางแผน เดินหมากอะไรทั้งหมด ซึ่งหากมีดีลลับอะไรให้ พปชร.กลับมาได้ วันนี้ก็ยังไม่แสดงชัดเจนนัก รอแต่เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ แต่กระแส ส.ส.เริ่มกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัครเป็นสมาชิกพรรค

ที่ควรสมัคร เพราะอย่างไรก็ตาม จุดขายสำคัญของการเลือกตั้งคือ “ใครจะมาเป็นนายกฯ” ประชาชนต่างก็ อยากเห็นวิสัยทัศน์ของคนเป็นนายกฯ ด้วย ในการเสนอนโยบาย ช่วยพรรคหาเสียง ไม่ใช่เหมือนเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่ถ้าจำไม่ผิด พล.อ.ประยุทธ์ไปขึ้นเวทีใหญ่ของพรรค พปชร.แค่ครั้งเดียวก่อนเลือกตั้ง ซึ่งขณะนั้นกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ยังดีๆ อยู่ แบบว่า ..เลือกความสงบจบที่ลุงตู่… ก็เลยได้รับการเลือกตั้งมาเป็นพรรคอันดับสอง

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังลอยตัวก็เหมือนยิ่งห่างออกจากพรรค  จนมีการพูดไปถึงว่า “พรรคมาเป็นนั่งร้านให้ พล.อ.ประยุทธ์หรือ คสช.เท่านั้น” จากข่าวที่ออกบ่อยๆ คือ นายกฯ ไม่ค่อยเอา ส.ส.เท่าไรนัก ทำงานแบบค่อนข้าง one man show ดังนั้นก็ถึงเวลาแล้วที่บิ๊กตู่จะต้องมาร่วมหัวจมท้ายกับพรรค ช่วยบิ๊กป้อมและแกนนำพรรคคิดนโยบายและหาเสียง และให้พรรคมีบทบาทมากขึ้นในการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีกรณีกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกสมัยหน้า ไม่ใช่ต้องกันบางเก้าอี้ไว้เป็น “โควตา คสช.”  และในช่วงหกเดือนนับจากนี้ก่อนวันสิ้นอายุสภา (ถ้าไม่ยุบสภา) พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกสมัย ก็ต้องเร่งทำผลงานให้รู้ว่า “อะไรดีที่ต้องไปต่อ อะไรใหม่ที่ต้องทำ” บทพิสูจน์ที่บางคนจับตาคือการจัดการประชุมเอเปค ที่ไทยจะได้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแค่ไหน และการดำเนินโครงการอีอีซี

ถ้าไม่มีอะไรให้ว้าว ตั้งแต่ตัวผู้สมัครไปจนถึงนโยบาย ในขณะที่พรรคอื่นเขาเปิดกันโครมๆ และยังโจมตีรัฐบาลได้ไม่หยุดเกี่ยวกับเรื่องการก่อหนี้ การซื้ออาวุธ ก็เห็นทีว่า ส.ส.พปชร. จะได้ต่ำกว่าเป้ามาก (ขณะที่มีบางส่วนเล็งจะไปพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคอื่นแล้ว) ว่ากันว่าคะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ทำให้ได้ ส.ส.กรุงเทพฯ และ ส.ส.ใต้ …แต่สภาพภูมิทัศน์ทางการเมืองของกรุงเทพฯ คือเมืองที่มีความสวิงตัวทางการเมืองสูง คนต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ เช่นกรณีการเลือกผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ก็เป็นตัวพิสูจน์หนึ่ง เผลอๆ สนามกรุงเทพฯ เที่ยวหน้า พปชร. อาจเสียเก้าอี้ไปเยอะ เพราะเพื่อไทย ก้าวไกล และประชาธิปัตย์พยายามรุกหนัก

ส่วนภาคใต้นั้น ก็ย้อนกลับไปที่ว่า ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย ( และประชาชาติ ในส่วน ส.ส.3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ) แข่งกันดุเดือด วันนี้แน่ใจได้แค่ไหนว่า กระแส พล.อ.ประยุทธ์จะช่วยให้ได้ ส.ส.อีก ? ..ส.ส.พปชร.บางส่วนจึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เปิดหน้านำทัพเป็นนักการเมืองเต็มตัว ลบภาพ คสช.ที่ใช้พรรคเป็นแค่นั่งร้านเพื่อการเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง และข้อครหาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องหนี้ เรื่องการซื้ออาวุธ เรื่องปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมแสดงความเห็นก็ต้องแก้ต่างให้ได้ รวมถึงมีอะไรเอาใจชนชั้นกลางในเมืองที่ใช้อินเทอร์เนต เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นตัวกระจายข่าวสาร

สองขั้ว เอาหรือไม่เอาประยุทธ์ ก็ยังชัดเจนในวันนี้ มีภูมิใจไทยรอเป็นตาอยู่ได้ พปชร.และ พล.อ.ประยุทธ์ขยับตัวเพื่อสร้างคะแนนนิยม แสดงอนาคตพรรคได้แล้ว ไม่เช่นนั้นจะเหมือนพรรคเพื่อแผ่นดินที่ตั้งสมัย คมช. คือที่สุดแล้วกลายเป็นพรรคอกแตก มี ส.ส.แต่ ส.ส.ไม่ยึดมติพรรคในการโหวต รอจังหวะเวลาที่จะไปหาพรรคใหม่อยู่

จะให้มีตัวแปรที่สาม คือพรรคที่ไม่เอาทั้งสองขั้ว เห็นจะยาก เอาฐานเสียงจากไหนก่อน.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”