ทำนาเป็นอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ผมและชาวบ้านก็ยึดอาชีพนี้มาตลอด และก็ล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอดเช่นกัน แถมปีที่ผ่านมายิ่งหนัก เพราะต้นทุนสูงขึ้น และยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นหนี้ ทำให้ท้อกันหมด จนชีวิตมาพลิกไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อหันมาเลี้ยงโคขุน” เสียงจาก “สำราญ โพธิพันธ์” ประธาน “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม จ.อุบลราชธานี” บอกเล่าถึงปัญหาของเขาและเกษตรกรในพื้นที่ ที่ชีวิตมาเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นได้เมื่อได้ “โคขุน” มาช่วย “ปลดล็อก” ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวของกลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้มานำเสนอเป็นกรณีศึกษา…

กรณีศึกษากลุ่มวิถีชีวิตกลุ่มนี้ “ทีมวิถีชีวิต” ไปสัมผัสมาจากการลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ร่วมกับคณะของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เพื่อเยี่ยมชม กลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม ต.บัวงาม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ที่ทำอาชีพภายใต้ โครงการบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” ตามแนวทาง D & MBA : Design & Manage by Area เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การจัดการและ “แก้ไขปัญหาหนี้สิน” ในชุมชน โดย สำราญ โพธิพันธ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม เล่าให้ฟังว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้ได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2518 ส่วนตัวเขานั้นได้เข้ามาอยู่ตอนปี 2521 ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก  200 คน โดยเส้นทางที่ผ่านมาก็ล้มลุกคลุกคลานกับการทำนามาตลอด ยิ่งในระยะหลายปีมานี้ต้นทุนทำนาเพิ่มขึ้น แต่ขายข้าวได้ราคาไม่ดี จึงยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน อีกทั้งช่วง 2-3 ปีมานี้มีโควิด-19 ชาวนาที่นี่ก็ยิ่งประสบปัญหา เจอผลกระทบด้านรายได้อย่างหนัก

ต้นทุนทำนาสูงลิ่ว แต่ราคาข้าวขายได้ไม่ถึงหมื่นบาทต่อเกวียน เมื่อราคาข้าวกับต้นทุนสวนทางกัน ทำให้ชาวนายิ่งทำนาก็ยิ่งขาดทุน หนี้สินก็ยิ่งพอกพูนเพิ่มมากขึ้น จนสมาชิกในกลุ่มเริ่มหันมาคิดทบทวนกันเพื่อหาทางรอดจากปัญหาที่กำลังเผชิญกันอยู่ …สำราญ เล่าถึงสถานการณ์ของชาวนาในพื้นที่นี้ ก่อนจะบอกว่า หลังจากที่มีการพูดคุยกันในกลุ่ม ทางสมาชิกก็ตกลงกันว่าจะ “เลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพเสริม” โดยสายพันธุ์ที่นำมาเลี้ยงนั้นก็มีทั้งชาโรเลส์ และบราห์มันซึ่งสำราญเล่าย้อนว่า ก่อนที่จะหันมาเลี้ยงโคขุนนั้นก็ได้มีการพูดคุยกันในกลุ่ม ว่าจะเลี้ยงโคแบบไหน จะเลี้ยงโคเพื่อเอาโค หรือเลี้ยงโคเพื่อเอาเงิน ซึ่งถ้าเลี้ยงโคเอาลูกโคก็ใช้เวลานานเป็นปีกว่าจะได้เงิน แต่ถ้าเป็นการเลี้ยงโคเอาเงินนั้นก็เป็นการเลี้ยงโคขุน โดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4 เดือนก็ส่งขายได้เงินแล้ว ทุกคนก็เลยตัดสินใจกันว่าจะเลี้ยงโคเอาเงิน 

สำราญ โพธิพันธ์

ก็ได้ข้อสรุป เราเลือกการเลี้ยงโคขุน เพราะมองเห็นโอกาสว่าตลาดโคขุนยังไปได้ โดยตลาดหลักคือประเทศจีน และเวียดนาม อีกอย่างที่สำคัญชาวบ้านมองว่าการขายโคขุนนั้นคนเลี้ยงสามารถกำหนดราคาเองได้ อีกทั้งการขายก็ใช้วิธีการถ่ายรูปโคที่เลี้ยงแล้วส่งรูปไปให้ผู้ซื้อดูรูปร่างโครงสร้างของโคขุนที่เลี้ยงเพื่อตกลงราคากันก่อนได้ … ทางประธานกลุ่มบอกเรื่องนี้กับเรา พร้อมระบุว่า ตอนที่เริ่มต้นเลี้ยงโคขุนนั้นก็ได้ทาง ธ.ก.ส. เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน ในรูปแบบของ “สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย” จำนวน 2,000,000 บาท จากจำนวนทั้งหมดที่จะให้การสนับสนุน 4,000,000 บาท เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตสมาชิก และต่อยอดธุรกิจให้มีคุณภาพตามความต้องการตลาด

และนอกจากสนับสนุนเงินทุนแล้ว สำราญ เล่าว่ายังได้มีการเข้ามาช่วย มีการเติมองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิต โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ ฯลฯ และมีการให้ความรู้การทำบัญชีที่ถูกต้อง อีกทั้งพาสมาชิกกลุ่มไปศึกษาดูงานที่สุพรรณบุรี สุรินทร์ และศรีสะเกษ โดยมีการทำ MOU ร่วมกับ หจก.บุณฑริกสัตวแพทย์ และกฤษฎาฟาร์ม เพื่อให้มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน และนอกจากนี้ทางกลุ่มเองก็ยังได้มีการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดกิจกรรมปลูกป่า และการคัดแยกจัดเก็บขยะเพื่อนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดมลพิษและเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนอย่างยั่งยืน  โดยเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนจากทาง ธ.ก.ส.

ทางสมาชิกกลุ่ม และตัวผม เลี้ยงโคขุนมาได้ยังไม่ถึงปี แต่ที่ผ่านมาก็สร้างรายได้และผลกำไรให้กับสมาชิกเป็นอย่างดี โดยสามารถขายโคขุนที่เลี้ยงไปได้ถึง 3 รอบแล้ว ทำให้เห็นได้ชัดว่าสามารถดำเนินการไปได้ดี โดยผู้รับซื้อจะให้ราคากิโลกรัมละประมาณ 100 บาท ซึ่งโคขุนที่ขายนั้นจะต้องมีน้ำหนักประมาณ 500-600 กิโลกรัมต่อตัว โดยเมื่อหักต้นทุนพวกค่าหัวอาหาร ค่ายา ที่เป็นต้นทุนหลักแล้ว เราก็ยังมีกำไรเฉลี่ยตกตัวละ 4,000-6,000 บาท …เป็น “รายได้งาม ๆ” หลังจากหันมา “เลี้ยงโคขุน” ที่ทางประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม เล่าให้ฟัง

สมาชิกผู้เลี้ยงโคขุน

นอกจากการขายโคขุนแล้ว ทาง สำราญ ได้เล่าให้ฟังอีกว่า ในส่วนของมูลโคนั้นก็จะนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใส่ในแปลงปลูกหญ้าสำหรับใช้เลี้ยงวัว ที่ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตลงไปได้มาก นอกจากนี้สมาชิกยังมีรายได้จากมูลโคที่มีคนเข้ามารับซื้ออีกด้วย ทำให้สามารถสร้างรายได้เพิ่ม จนทำให้การเลี้ยงโคขุนมีรายได้มากกว่าปลูกข้าวขาย ซึ่งการทำนาต้องใช้เวลา 1 ปีจึงจะขายข้าวได้เงิน แต่เลี้ยงโคขุน 1 ปี เกษตรกรก็สามารถมีรายได้ถึง 3 รอบ เปรียบเทียบแล้วแตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้บอกว่า แม้การเลี้ยงโคขุนนั้นจะเลี้ยงไม่ยาก แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเลี้ยงได้ดี ซึ่งจากประสบการณ์ของตนเองและสมาชิกนั้น บอกได้เลยว่าหากสนใจจะเลี้ยงจริง ๆ เกษตรกรที่สนใจจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ให้เพียงพอเสียก่อน และต้องใส่ใจลงไปในการเลี้ยงให้ดีด้วย จึงจะพบกับความสำเร็จได้จากอาชีพเลี้ยงโคขุน เช่นที่ทางกลุ่มของเขานั้นทำได้สำเร็จมากแล้ว โดยตอนนี้ทางกลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ 10,000,000 บาท แต่ก็ยังไม่พอเพียงกับสมาชิก เพราะต้องการให้ทุกคนเข้าถึงอาชีพการเลี้ยงโคขุนให้มากขึ้น ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนเงินทุนอีก 10,000,000 บาท เพื่อส่งเสริมสนับสนุนสมาชิกที่สนใจเลี้ยงรายละ 500,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะซื้อโคขุนมาเลี้ยงได้ 10 ตัว และยังมีเงินทุนเหลือสำหรับนำไปใช้เพื่อหมุนเวียนเป็นค่าหัวอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย …สำราญ ระบุถึงความต้องการเรื่องนี้

ก่อนจะย้ำว่า ตอนนี้เกษตรกรทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า อาชีพเลี้ยงโคขุนกำลังจะเป็นอาชีพหลักแทนการทำนาแล้ว เพราะเกษตรกร สมาชิกของกลุ่ม “เห็นความเปลี่ยนแปลง” หลังจากหันมาทำอาชีพนี้

อย่างตัวผมเองนั้น ก่อนที่จะมาเลี้ยงวัว ผมมีหนี้สินจากการทำนาเป็นหลักแสนบาท ชนิดที่ทำนาขายข้าวยังไงก็ไม่พอใช้หนี้ แต่หลังจากหันมาทำอาชีพเลี้ยงโคขุน ทำให้เริ่มพอมีเงินเหลือเก็บ มีเงินไปชำระหนี้จากการทำนามากขึ้น จนมั่นใจว่าสมาชิกที่เป็นหนี้จากการทำนาข้าว หากมาเลี้ยงโคขุนช่วยด้วย จะใช้เวลาเพียง 2 ปีก็ปลดหนี้ที่เคยมีจากการทำนาได้อย่างแน่นอน …สำราญ ระบุอย่างเชื่อมั่นในเส้นทางอาชีพใหม่ที่จะช่วย “ปลดล็อกชีวิต” ได้

ทั้งนี้ ก่อนจบการสนทนากันในวันนั้น สำราญ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม ต.บัวงาม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ได้เน้นย้ำกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า ถึงแม้ปัจจุบันนี้สมาชิกในกลุ่ม รวมทั้งตนเอง จะหันมาทำอาชีพเลี้ยงโคขุนเป็นหลักแล้วก็ตาม แต่กับอาชีพชาวนายังไงก็ไม่ทิ้งแน่นอน โดยจะยังคงปลูกข้าวควบคู่ไปกับการเลี้ยงโคขุนด้วย เพราะอาชีพทำนาเป็นรากเหง้า เป็นอาชีพที่มีการสืบสานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพียงแต่อาจจะลดปริมาณการปลูกข้าวลง

สถานการณ์ปัจจุบันที่ต้นทุนในการทำนาสูงขึ้น แต่ราคาข้าวตกต่ำ ทำให้เราต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีทำอาชีพใหม่ โดยคงจะทำนาเอาไว้แค่พอกินและเอาไปขายบ้างเท่านั้น ส่วนที่นาตรงไหนที่ไม่ค่อยสวย ก็คงปรับให้เป็นพื้นที่ปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงโคแทน แต่ยืนยันว่า…ถึงยังไงเราก็คงไม่ทิ้งอาชีพทำนาแน่นอน เพราะเป็นอาชีพสำคัญจากรุ่นปู่ย่าตายายพ่อแม่เรามา แม้ยุคเราจะมีช่วงที่ยิ่งทำยิ่งขาดทุน เราก็จะทำนากันต่อไป…

เพราะเป็นอาชีพของบรรพบุรุษ

คณะ ธ.ก.ส. กับสมาชิกกลุ่ม

‘หลักสำคัญ’ กุญแจ ‘ปลดล็อก’

ยึดหลักตาม แนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการ ’ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีอยู่มาทำให้เกิดประโยชน์ที่สุด“ เพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูง …นี่เป็น “หลักสำคัญ” ของแนวทาง D & MBA : Design & Manage by Area ซึ่งกับกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม จ.อุบลราชธานี” นั้น สุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกว่า การที่ทางกลุ่มนี้หันมาเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพเสริม โดย ธ.ก.ส. ช่วยสนับสนุนผ่านโครงการบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” ตามแนวทาง D & MBA ก็ได้ให้เกษตรกรพูดคุยและคิดกันเองว่าจะปรับเปลี่ยนการผลิตหรือทำเช่นไรจึงจะพัฒนาให้ดีขึ้น หรือจะทำอาชีพอะไรเพิ่มเพื่อที่จะเป็นการสร้างรายได้เสริม โดยยึดตามหลักสำคัญดังกล่าว

ความจริงการเลี้ยงโคเนื้อก็เป็นอาชีพของเกษตรกรภาคอีสานมานานแล้ว เพียงแต่เคยถูกมองข้ามไป ซึ่งเมื่อทางกลุ่มได้ข้อสรุปก็มีการสนับสนุนทั้งเรื่องทุน องค์ความรู้ โดยเรื่องทุนสนับสนุนผ่านโครงการ “สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย” ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี และเชิญส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมมือ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อเข้ามาให้ความรู้กับเกษตรกรทั้งในเรื่องของทักษะ การตลาด และการทำบัญชี ซึ่งระบบบัญชีจะทำให้ระบบของกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง อีกทั้งช่วยป้องกันการทุจริตด้วย… เชื่อว่าโมเดลนี้จะสามารถช่วยให้เกษตรกรเดินไปในทางที่ถูกต้อง ช่วยพัฒนาให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงได้ แม้จะต้องเผชิญวิกฤติต่าง ๆ อย่างไม่คาดคิดก็ตาม.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน