บรรยากาศทุกโหมดเดินทางกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะทางอากาศของทุกประเทศทั่วโลก เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย​ ล่าสุดกระทรวงคมนาคมรายงานตัวเลขการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศมีสัดส่วนสูงสุดถึง 97.97% หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย

ท่าอากาศยาน และสายการบินต่างๆ มีชีวิตชีวาแม้จะยังให้บริการไม่เต็ม 100% เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 62 แต่อย่างน้อยก็เป็นแนวโน้มที่ดี ธุรกิจจะได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง และหวังว่าจะกลับสู่สภาวะปกติในไม่ช้านี้

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์ มีโอกาสได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวของกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย ที่ย้ายการให้บริการมาสู่เทอร์มินอล 4 ที่ท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ พร้อมเยี่ยมชมความพร้อมการกลับมาให้บริการของเทอร์มินอล 4 ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารใหม่ล่าสุดของท่าอากาศยานชางงี และเป็นอาคารผู้โดยสารแห่งแรกของท่าอากาศยานชางงีที่มี ระบบ Fast and Seamless Travel (Fast) ให้บริการผู้โดยสารขาออก ด้วยระบบอัตโนมัติทุกขั้นตอน ไม่ต้องเสียเวลาต่อแถวรอคิวนาน เดินฉิวตั้งแต่เช็กอินจนถึงขึ้นเครื่องบิน ไม่ต้องเจอเจ้าหน้าที่ ลดการสัมผัส ได้รับความสะดวกรวดเร็ว

ท่าอากาศยานชางงี เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ลำดับที่ 3 ประจำปี 65 จากการจัดอันดับของ Skytrax เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 4 (เทอร์มินอล 4) อีกครั้งเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 65 หลังปิดบริการตั้งแต่เดือน พ.ค.63 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้สายการบินทยอยคัมแบ๊กเทอร์มินอล 4 แล้ว รวมถึงสายการบินกลุ่มแอร์เอเชียที่ทำการบินตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานชางงี บอกเล่าว่า ในการให้บริการเทอร์มินอล 4 ได้ทดสอบความพร้อมในการปฏิบัติงานทุกระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะราบรื่น อาคารหลังนี้เปิดบริการครั้งแรกปี 60 มีพื้นที่ 2.25 แสนตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 16 ล้านคนต่อปี มีตู้เช็กอินอัตโนมัติ 65 เครื่อง สามารถออกบัตรที่นั่ง (Boarding Pass) และแท็กติดกระเป๋าได้อย่างสะดวก, จุดโหลดสัมภาระอัตโนมัติ 50 เครื่อง, จุดตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ 18 เครื่อง และจุดผ่านขึ้นเครื่องอัตโนมัติทุกเกทก่อนขึ้นเครื่องบิน แต่ละจุดยังจัดเจ้าหน้าที่ประจำไว้จำนวนหนึ่ง สำหรับให้คำแนะนำ และคอยช่วยเหลือผู้ที่ติดปัญหาการใช้งานระบบอัตโนมัติ

สายการบินที่กลับมาให้บริการที่เทอร์มินอล 4 แล้ว ได้แก่ สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก, โคเรียน แอร์ และ แอร์เอเชียกรุ๊ป (แอร์เอเชียมาเลเซีย, แอร์เอเชียฟิลิปปินส์, แอร์เอเชียอินโดนีเซีย และไทยแอร์เอเชีย) ส่วนวันที่ 20 ก.ย. สายการบินที่จะกลับมาให้บริการ ได้แก่ แบมบู แอร์เวย์, เซบู แปซิฟิค, ฮ่องกง เอ็กซเพรส, เชจู แอร์ และ จูนเยา แอร์ไลน์ ขณะที่วันที่ 22 ก.ย. ได้แก่ ไทยเวียตเจ็ท, เวียตเจ็ทแอร์ และเวียดนามแอร์ไลน์

รู้สึกตื่นเต้นที่กลุ่มแอร์เอเชียได้กลับมาให้บริการที่เทอร์มินอล 4 ซึ่งเต็มไปด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีล้ำสมัยในทุกด้าน ทำให้ประสบการณ์ในสนามบินของผู้โดยสารได้สัมผัสความเป็นดิจิทัล สอดคล้องกับการดำเนินงานของแอร์เอเชียที่มุ่งเน้นนวัตกรรม และประสิทธิภาพของการให้บริการมาโดยตลอด” นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Capital A บอกถึงความพิเศษและประสบการณ์เดินทางครั้งใหม่ที่เทอร์มินอล 4

ขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย นายสันติสุข คล่องใช้ยา ย้ำว่า สายการบินไทยแอร์เอเชีย เป็นสายการบินแรกที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในสนามบินของไทย ตั้งแต่สนามบินยังไม่มีตู้คีออสให้บริการ โดยนำตู้คีออสมาตั้งบริการเองให้ผู้โดยสารเช็กอิน เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และพยายามพัฒนาระบบต่างๆ ล่าสุดเตรียมพร้อมกับการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ระบุตัวตน เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่รวดเร็วมากขึ้น และลดการสัมผัส ผู้โดยสารลงทะเบียนการใช้งานระบบจดจำใบหน้าผ่านแอพพลิเคชั่นของแอร์เอเชียได้แล้ว

นายสันติสุข อธิบายด้วยว่า เมื่อผู้โดยสารลงทะเบียนสำเร็จสามารถใช้ระบบได้ตามจุดที่ต้องติดต่อที่สนามบินได้ทันที เช่น เช็กอิน โหลดสัมภาระ และขึ้นเครื่องบิน อย่างไรก็ตามระบบจดจำใบหน้ายังไม่สามารถนำมาใช้กับท่าอากาศยานในประเทศไทยได้ เพราะยังมีข้อจำกัด อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากมีเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะด้านกฎหมาย และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงการติดตั้งระบบที่สนามบินด้วย หากได้ข้อสรุปและได้รับการอนุญาตให้ใช้ระบบข้อมูลที่ผู้โดยสารลงทะเบียนไว้จะนำมาใช้ได้ทันที ขณะนี้ระบบจดจำใบหน้าที่ลงทะเบียนผ่านแอพ ใช้ได้ที่ท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ 2

เข้าใจถึงข้อจำกัดและเชื่อว่าผู้โดยสารไม่น้อยอยากให้ภาครัฐเร่งขจัดปัญหาอุปสรรค เพราะไม่อยากเสียเวลาต่อแถวรอคิวนานๆ ต้องการความฉิวขึ้นเครื่องบิน รวมทั้งลดสัมผัส ป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง