กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สรุปสถิติอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟช่วงปี 58-64 เกิดขึ้น 437 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 162 ราย และบาดเจ็บ 434 ราย ยังไม่รวมผู้พิการจากอุบัติเหตุอีกหลายราย ครั้งร้ายแรงที่สุดคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 63 รถไฟบรรทุกสินค้าตู้คอนเทเนอร์ ชนรถบัสโดยสารบริเวณป้ายหยุดรถคลองแขวงกลั่น จ.ฉะเชิงเทรา มีผู้เสียชีวิตถึง 19 ราย

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีโครงข่ายรถไฟระยะทาง 4,043 กิโลเมตร (กม.) ครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด มีจุดตัดถนนและทางรถไฟทั่วประเทศประมาณ 2,975 จุด จากการสำรวจของ ขร. เบื้องต้นพบว่า ยกเลิกใช้แล้ว 218 แห่ง และเป็นจุดตัดต่างระดับแล้ว 621 จุด คงเหลือจุดตัดเสมอระดับ 2,136 จุด ประกอบด้วย ทางผ่านที่มีเครื่องกั้นแล้ว 1,358 จุด ทางผ่านที่เป็นป้ายจราจร 152 จุด และทางลักผ่าน 626 จุด

ขร. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศ เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการและออกแบบรายละเอียดการปรับปรุงกายภาพจุดตัดทางถนน และทางรถไฟในระยะเร่งด่วน

นอกจากนี้จะจัดทำมาตรฐานจุดตัดทางถนนและรถไฟ และแนวทางการสอบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดฯ เชิงลึก พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและรถไฟ

ล่าสุด ขร. ได้เปิดบริการแอพพลิเคชั่น DRT crossing ที่แสดงข้อมูลจุดตัดถนนกับทางรถไฟทั่วประเทศ ทั้งข้อมูลภาพถ่ายบริเวณจุดตัด รายละเอียดเครื่องกั้น อุปกรณ์ความปลอดภัย ข้อมูลปริมาณจราจร และสถิติการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเรียกดูจุดตัดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และปรับปรุงแก้ไข

รวมทั้งเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน หากพบเจอทางลักผ่าน หรือพบอุปกรณ์บริเวณจุดตัดขัดข้อง หรือเหตุฉุกเฉินต่างๆ สามารถแจ้งผ่านแอพ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีให้บริการทั้งบนเว็บไซต์ และระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือ ทั้ง Android และ iOS ขณะนี้สามารถดาวน์โหลดแอพ ได้เฉพาะระบบปฏิบัติการ Android ก่อน ส่วนios คาดว่าจะดาวน์โหลดแอพ ได้ประมาณเดือน ต.ค.65

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) บอกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟ ซึ่งไม่เพียงปิดจุดตัดเท่านั้น แต่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดจุดตัดใหม่ด้วย โดยเฉพาะทางลักผ่านในพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่ง ขร. เตรียมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งทั่วประเทศรับผิดชอบทางลักผ่าน หลังจากนี้ต้องไม่มีทางลักผ่านใหม่ๆ เกิดขึ้น และหากปล่อยให้มีทางลักผ่านเกิดขึ้น ทาง อปท. ต้องรับผิดชอบ ทึกข้อตกลงฯ อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดร่วมกับ รฟท. เพื่อปรับปรุงอีกเล็กน้อย คาดว่าจะลงนามได้ในเดือน ต.ค.นี้

สำหรับบทลงโทษการเปิดทางลักผ่านนั้น หากร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ประกาศและมีผลบังคับใช้ จะมีบทลงโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงโทษทางปกครอง สามารถสั่งให้รื้อออก และปรับสภาพให้เหมาะสมเหมือนเดิมได้

ทั้งนี้ปัจจุบันมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ. 2464 โดยเป็นกฎหมายที่มีมา 100 ปีแล้ว ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 84 ที่ระบุว่า ผู้ใดบังอาจเข้าไปในที่ดินรถไฟ นอกเขตที่ที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าออกได้ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น 1 ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท ถือว่าเป็นโทษค่อนข้างเบามาก จึงทำให้ทุกวันนี้ยังมีการลักลอบเปิดทางลักผ่านอยู่

ด้าน รฟท.มีโครงการ 1+1=0 รถไฟไทยปลอดภัยทุกเส้นทาง โดยเน้นสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง รฟท. กับชุมชน ให้ความรู้เกี่ยวกับการขับขี่ยานพาหนะผ่านบริเวณจุดตัดทางรถไฟอย่างถูกต้อง ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้เส้นทางอย่างระมัดระวัง โดยมีคำแนะนำเน้นย้ำใน 4 ข้อ ดังนี้

1.หยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร ไม่ว่าจะมีเครื่องหมายหรือเสียงสัญญาณระวังรถไฟหรือไม่ก็ตาม ต้องรอให้แน่ใจว่าไม่มีรถไฟวิ่งผ่านหรือรถไฟวิ่งผ่านไปแล้ว จึงจะขับรถผ่านไปได้

2.ห้ามขับรถแซงขึ้นหน้ารถอื่นภายในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ

3.หากต้องการจอดรถ ต้องจอดรถในระยะไม่ต่ำกว่า 15 เมตรก่อนถึงทางรถไฟ

4.หากเห็นป้ายสัญลักษณ์ ได้แก่ ป้ายหยุด ป้ายเตือนรูปกากบาท “ระวังรถไฟ” ป้ายทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีอำพัน มีเครื่องจักรไอน้ำและรั้วกั้น ให้ชะลอความเร็ว และดูให้แน่ใจว่าไม่มีรถไฟแล่นผ่านมา

ร่วมใจช่วยกันลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟให้เป็นศูนย์

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์