เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานที่ประชุม คณะกรรมการค่าจ้างที่มีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาและมีมติการขึ้นอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำ ประจำปี 2565 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้น ซึ่งแบ่งเป็น 9 ช่วง ต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท สูงสุด 354 บาท ค่าเฉลี่ย 337 บาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.02% ตั้งแต่ 8-22 บาทขั้นตอนหลังจากนี้ เตรียมเสนอเข้าที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้าเพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป มีรายละเอียดดังนี้
(1) ช่วงที่ 1 สูงสุด 354 บาท มี 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต
(2) ช่วงที่ 2 ค่าจ้างขั้นต่ำ 353 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการและสมุทรสาคร
(3) ช่วงที่ 3 ค่าจ้างขั้นต่ำ 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา
(4) ช่วงที่ 4 ค่าจ้างขั้นต่ำ 343 บาท มี 1 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา
(5) ช่วงที่ 5 ค่าจ้างขั้นต่ำ 340 บาท มี 14 จังหวัดได้แก่ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี
(6) ช่วงที่ 6 ค่าจ้างขั้นต่ำ 338 บาท มี 6 จังหวัดได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก
(7) ช่วงที่ 7 ค่าจ้างขั้นต่ำ 335 บาท มี 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
(8) ช่วงที่ 8 ค่าจ้างขั้นต่ำ 332 บาท มีทั้งหมด 22 จังหวัด คือ จังหวัดอำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร
(9) ช่วงที่ 9 ถ้าจ้างขั้นต่ำ 328 บาท มี 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี
รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า โดยบรรยากาศในประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากมีการเสนอขึ้นค่าจ้างฯ ในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดย ชลบุรี กทม. เสนอปรับเยอะสุด เสนอมา 360 บาท รองลงมาคือ ภูเก็ต 358 บาท ต่ำสุดเสนอปรับที่ 328 มี 8 จังหวัดส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคอีสาน ทำให้กรรมการสัดส่วนนายจ้างยังยื้อเอาไว้ เพราะที่ประชุมอยากขึ้นค่าจ้างเต็มเหนี่ยว ราวๆ 5-8% ซึ่งหากเป็นเรตนี้นายจ้างก็อยู่ไม่ไหว ขณะเดียวกันนายจ้างกลับกดเรตการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 1%