จากกรณี รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านหรือ WFH เพื่อป้องกันโควิด-19 ทำให้หลายครอบครัวต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยล่าสุดเว็บไซต์ขายของออนไลน์ต่างลดราคาสินค้าเพื่อเอาใจผู้บริโภคกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็พบว่ายังมีสินค้าเป็นปัญหาและตกเป็นข่าวครึกโครมนั่นก็คือ “หม้อทอดไร้น้ำมัน”

โดยประเด็นดังกล่าวเป็นกรณีของ บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ “เอเจ” ที่ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ถอนอายัดสินค้าของ บ.เอเจฯ ล่าช้า 3 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์หม้อทอดไร้น้ำมัน หม้อไฟฟ้า และเตาไฟฟ้า ทั้งที่มีใบอนุญาตฯ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน จำหน่ายสินค้าไม่ได้

ขณะที่ฝ่าย “สมอ.” โดย นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการฯ แถลงต่อผ่านเฟซบุ๊ก “สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม – สมอ.” ยืนยันว่า ได้กระทำตามกฎหมายทุกอย่าง เนื่องจากเห็นว่าบริษัทฯ ไปโฆษณาจำหน่ายหม้อทอดไร้น้ำมันบนเว็บไซต์ที่จัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ 3 เว็บ จึงเข้าตรวจควบคุมสินค้าที่อายัดไว้และตรวจนับปรากฏว่า มีสินค้าสูญหายรวมทั้งสิ้น 2,805 หน่วย ตามระเบียบต้องแจ้งเอาผิดให้ตำรวจตรวจสอบว่ามีการลักลอบนำเอาของลางไปจัดจำหน่ายหรือไม่ และต้องเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 7.5 ล้านบาทด้วย (สามารถติดตามการแถลงข่าวได้ที่นี่…คลิก)

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่าที่ร้อยตรี สุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ ทนายความ ของบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางบริษัท เอเจฯ ยืนยันว่าได้รับอนุญาตให้นำเข้าสินค้าและผ่านด่านตามพิธีการศุลกากร ตามกฎหมายศุลกากรเรียบร้อย และชำระภาษีอากรทุกประเภทถูกต้องเรียบร้อยแล้ว เพราะทางบริษัทฯ คำนึงถึงหลักข้อกฎหมาย ความถูกต้อง ความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันทางบริษัทยังแสดงความบริสุทธิ์ใจ เป็นคนแจ้งให้ “สมอ.” เข้ามาตรวจสอบสินค้าขณะรอทำเรื่องขอใบอนุญาต “มอก.” ให้เสร็จสมบูรณ์ ไม่ได้ถูกบุกตรวจค้นจนเป็นที่มาของการอายัดสินค้าแต่อย่างใด

สำหรับกรณีเงินค่าปรับ 7.5 ล้านบาท ที่ทาง สมอ. เรียกปรับจากบริษัทฯนั้น ตนเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะมูลค่าสินค้าอยู่ที่ 2 ล้านกว่าบาท ทั้งนี้หากยังไม่แก้ไข หรือเยียวยากับสิ่งที่ทำให้บริษัท เอเจฯ เสียหาย ทางบริษัทจะยื่นฟ้องร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นขั้นตอนต่อไป.