อาทิ… 23 มิ.ย. ที่ จ.นครราชสีมา ชายวัย 52 ปี เสียชีวิตจากการ ถูกฟ้าผ่ากลางทุ่งนา, 24 มิ.ย. ที่ จ.อุบลราชธานี ชาวนาหญิงก็ ถูกฟ้าผ่ากลางทุ่งนา เสียชีวิตข้างรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง, 25 มิ.ย. ที่ จ.นครราชสีมา หญิงวัย 63 ปี เสียชีวิตเพราะ ถูกฟ้าผ่าใกล้คอกควาย ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา, 6 ก.ค. ก็มีเหตุการณ์ชายวัย 29 ปี ถูกฟ้าผ่าบนกระท่อม แต่เดชะบุญที่รอดตายราวปาฏิหาริย์ …นี่เป็นตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้น…

เหตุการณ์ “คนถูกฟ้าผ่า” ที่ “ส่วนใหญ่เสียชีวิต”

ที่ผ่านมานั้น “มีน้อยรายมากที่รอดหลังถูกฟ้าผ่า”

ก็ต้องเตือนย้ำ… “ระวังภัยฟ้าผ่าที่อันตรายถึงตาย!!”

ทั้งนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้นำเสนอข้อมูล “เตือนภัยทางธรรมชาติ”  ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และกับ “ภัยฟ้าผ่า” นี่ก็ขอย้ำเตือนกันไว้อีกครั้ง เพราะปีนี้นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุจนทำให้ มีผู้เสียชีวิตเพราะฟ้าผ่าอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่สภาพอากาศขณะนั้น มีพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งจากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้น เหล่านี้ก็สะท้อนชัดว่า… “อันตรายจากฟ้าผ่า” ยังเป็น “ภัยที่ต้องระวัง” โดยถึงแม้จะเป็นภัยที่ควบคุมไม่ได้…

ก็… “สามารถจะหลีกเลี่ยง-ลดความเสี่ยงได้”…

“ฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้อย่างไร???” …กรณีนี้ทาง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และประธานชมรมคนรักมวลเมฆ ได้เคยอธิบายถึง “ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ” ชนิดนี้เอาไว้ในบทความเรื่อง “ฟ้าผ่า…เรื่องที่คุณต้องรู้” ซึ่งข้อมูลสรุปโดยสังเขปนั้นมีว่า… ฟ้าผ่าเป็นการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าในอากาศ ที่อาจจะเกิดร่วมกับปรากฏการณ์อื่น ๆ เช่น ฝนฟ้าคะนอง พายุฝุ่น และภูเขาไฟระเบิดก็อาจจะมีฟ้าผ่าเกิดร่วมได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับปรากฏการณ์ฟ้าผ่าที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่นั้น มักจะเกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าออกจาก เมฆฝนฟ้าคะนอง (thundercloud) หรือที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า…  เมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus)

ถ้ายึดหลักการที่ว่า…ฟ้าผ่าจะเชื่อมโยงบริเวณ 2 แห่งที่มีประจุต่างกัน ก็จะพบรูปแบบฟ้าผ่าได้อย่างน้อย 4 แบบ ได้แก่… 1.ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดมากที่สุด 2.ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง 3.ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้น และ 4.ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น …นี่เป็น “รูปแบบฟ้าผ่า” ที่มักพบบ่อย ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ก็ล้วนมีความรุนแรง ซึ่งกับเรา ๆ ท่าน ๆ “ฟ้าผ่าลงพื้นนั้นอันตรายชัวร์!!!” …ดังนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรหลีกเลี่ยง…

เพื่อ “ลดความเสี่ยง” จากการ “ถูกฟ้าผ่า”

และเกี่ยวกับ “ภัยฟ้าผ่า” นั้น กรณีนี้ก็มีข้อมูลน่าสนใจโดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ระบุไว้ว่า… แม้จะป้องกันการเกิดฟ้าผ่าไม่ได้ แต่กับการ “หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่า” นั้นก็ “มีแนวทางที่สามารถทำได้” โดย… ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดฟ้าผ่าต้องฟังประกาศเตือนภัย และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการเตรียมตัวเบื้องต้นให้ปลอดภัย รวมถึงควรศึกษาข้อมูลการป้องกันภัยนี้ เพื่อปกป้องตนเอง และรวมถึงปกป้องผู้อื่นได้ด้วย

ทั้งนี้ ทาง สพฉ. ได้ให้ “แนวทางป้องกันตัวจากฟ้าผ่า-พายุฝนฟ้าคะนอง” ไว้ดังนี้คือ… หากอยู่ในที่โล่งให้หาที่หลบที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการหลบใต้ต้นไม้ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง หรือไม่ได้ยึดติดกับพื้นอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันอันตราย หากหาที่หลบที่ปลอดภัยไม่ได้ให้หมอบ นั่งยอง ๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด และนอกจากนี้ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งนำไฟฟ้าทุกชนิด อาทิ เงิน ทอง นาก ฯลฯ และ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สายไฟหรือสัมผัสน้ำ

ตลอดจนควร หลีกเลี่ยงจากจุดที่ไฟฟ้าสามารถวิ่งเข้าถึง เช่น ผ่านทางสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ และท่อน้ำ เช่น อ่างล้างหน้า ฝักบัว, ควรถอดสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม ก่อนเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองอย่าใช้โทรศัพท์ ซึ่งกับ โทรศัพท์บ้านนั้นกระแสไฟฟ้าก็สามารถวิ่งมาตามสายจนทำอันตรายกับผู้ใช้ได้ แต่ถ้าหากเป็นกรณีอยู่ในรถ เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองรุนแรง ฟ้าผ่า ควรจอดรถ และอย่าสัมผัสโดนส่วนที่เป็นโลหะ ให้ปิดหน้าต่างรถทุกบาน กับไม่ควรจอดรถใต้ต้นไม้ใหญ่ และก็อย่าใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์แฮนด์ฟรีขณะที่ฝนตกโดยเด็ดขาด

ส่วนในกรณีที่ พบผู้ประสบภัยฟ้าผ่า ก็มี “แนวทาง-วิธีช่วยชีวิตผู้ถูกฟ้าผ่าในเบื้องต้น” โดยมีคำแนะนำไว้ดังนี้คือ… รีบ โทรฯ แจ้งสายด่วน 1669 ทันที และต้องสังเกตบริเวณที่เกิดเหตุว่ายังคงมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าอีกหรือไม่ ถ้ามี ต้องเคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดฟ้าผ่าซ้ำ ซึ่งเมื่อพบผู้ถูกฟ้าผ่า ทางผู้เข้าช่วย ผู้ปฐมพยาบาล สามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ โดยผู้ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว…

ช่วยผู้ถูกฟ้าผ่า…ช่วยได้ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกไฟฟ้าดูด …และหากเป็น กรณีผู้ประสบภัยหมดสติ ก็มีคำแนะนำว่า… เริ่มจากสังเกตอาการ ถ้าริมฝีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ คลำชีพจรไม่พบ ต้องรีบช่วยด้วยการทำ CPR ทันที!!

“คำแนะนำ” ดูกันซ้ำ ๆ แล้ว “จำได้แม่น ๆ…น่าจะดี”

ภัยธรรมชาติ “ประมาทมิได้” ซึ่งก็ “รวมถึงภัยฟ้าผ่า”

ที่ “ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูภัยฟ้าผ่า” ที่ “น่ากลัวอีกแล้ว!!”.