ขณะที่ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับกลุ่มการเมือง-มุ้งการเมือง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มสะท้อนต่อข้อมูลไปแล้วตอนหนึ่ง จากบทความ-จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ที่เรียบเรียงไว้โดย รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ตำแหน่งวิชาการในขณะนั้น) …ซึ่งนอกจากประเภทกลุ่มการเมืองที่แบ่งได้เป็น…กลุ่มสถาบันหรือองค์กร กลุ่มพรรคพวก และกลุ่มอุปถัมภ์…

เมื่อมองย้อน “อดีต” มาถึง “ปัจจุบัน” นี่ “ก็น่าพินิจ”

“กลุ่มการเมือง-มุ้งการเมือง” ในไทย “อื้ออึงมานาน”

วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนพินิจเชิงวิชาการในส่วนนี้…

ทั้งนี้ ย้อนโฟกัส “กลุ่มการเมือง-มุ้งการเมือง” ในไทย “กับการเมืองไทย” ในแหล่งฐานข้อมูล-ในบทความดังกล่าว บางช่วงบางตอนระบุไว้ว่า… กลุ่มการเมืองภายในพรรคการเมืองไทย มักนิยมเรียกในชื่อของ“กลุ่ม” หรือ “มุ้ง” หรือ “วัง” ต่าง ๆ ซึ่งมักมีพื้นฐานมาจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวในแง่ของการอุปถัมภ์ เครือญาติ หรือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ รวมไปถึงการมีอุดมการณ์ร่วมกัน ซึ่งนับแต่ยุคอดีต เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน…มีกลุ่ม-มุ้งที่มีบทบาทเด่นมากมาย-หลากหลาย

“กลุ่มการเมือง” หรือ “มุ้งการเมือง” ที่เคยมีบทบาททางการเมืองโดดเด่นในอดีตนั้น ก็มีอาทิ…กลุ่ม 16 ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. จำนวน 16 คน (การเมืองปัจจุบันก็มีชื่อกลุ่ม 16), กลุ่ม 10 มกรา เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 โดยมีความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความไม่พอใจในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี, กลุ่มวังน้ำเย็น กลุ่มนี้ตั้งชื่อกลุ่มตามชื่อ ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น ที่ จ.สระแก้ว

สำหรับ “กลุ่มการเมือง” กลุ่มในพรรคการเมืองไทย ช่วงทศวรรษ 2530ซึ่งเป็นช่วงการบริหารโดยรัฐบาลผสมหลายพรรคนั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ฉายภาพ “วิวัฒนาการ” ของ “ความเป็นกลุ่มการเมือง” ได้ชัดเจนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากการเลือกตั้ง และการจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาล ที่จะปรากฏให้เห็นถึง “อิทธิพล” ของกลุ่มต่าง ๆ ภายในพรรคการเมือง ซึ่งล้วน แสดงออกมาในรูปของการกดดันและสร้างอำนาจต่อรอง?? เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ

นี่เป็น “ภาพจำเกี่ยวกับมุ้งการเมืองในไทย??”

และข้อมูลในบทความจากแหล่งฐานข้อมูลดังที่ได้ระบุไว้ในตอนต้นยังได้สะท้อนไว้อีกว่า… ในอดีต สภาวะการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถมีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด จึงทำให้มีกลุ่มต่าง ๆ ทางการเมือง จึงมีการแสดงออกผ่านทางการสร้างแรงกัดดันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกันมาก โดยกลุ่มภายในพรรคการเมืองในไทยที่มีความสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีดังต่อไปนี้คือ… กลุ่มภายใน พรรคความหวังใหม่ ได้แก่… กลุ่มพระพาย, กลุ่มอีสานใต้, กลุ่มภาคเหนือ, กลุ่มเอกภาพ, กลุ่มภาคตะวันออก, กลุ่มอีสานเหนือ และ กลุ่มอิสระ

กลุ่มภายใน พรรคชาติไทย ได้แก่… กลุ่มบรรหาร และ ส.ส.ภาคกลาง, กลุ่มเทิดไท, กลุ่มวังน้ำเย็น, กลุ่มภาคตะวันออก, กลุ่มปากน้ำ, กลุ่มซอยราชครู, กลุ่มลำปาง และ กลุ่ม 16 …กลุ่มการเมืองเหล่านี้ต่างก็เคยมีบทบาทเด่น

ขณะที่กลุ่มภายใน พรรคไทยรักไทย ได้แก่… กลุ่มบ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในพรรคไทยรักไทย, กลุ่มวังบัวบาน, กลุ่มวังน้ำยม, กลุ่มวังพญานาค หรือพรรคเสรีธรรมเดิม, กลุ่มวังน้ำเย็น, กลุ่มบ้านริมน้ำ, กลุ่มราชบุรี, กลุ่มชลบุรี, กลุ่มลำตะคอง หรือพรรคชาติพัฒนาเดิม, กลุ่มทานตะวัน หรือพรรคความหวังใหม่เดิม, กลุ่มวาดะห์, กลุ่มวังค้างคาว, กลุ่มบุรีรัมย์, กลุ่ม กทม. และ กลุ่มวังมะนาว หรือกลุ่ม 16 เดิม …กลุ่มการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ก็เคยอื้ออึงเช่นกัน

เมื่อถึงยุคที่ผลเลือกตั้งใหญ่ครั้งหลังสุด พรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นแกนตั้งรัฐบาล “กลุ่มการเมือง-มุ้งการเมือง” ที่มีกระแสเด่นขึ้นมาคือ กลุ่มสามมิตร กลุ่มการเมืองที่เกิดขึ้นจากการกลับมาร่วมงานทางการเมืองกัน ระหว่าง…สมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งทั้ง 3 คนเคยมีส่วนสำคัญในการทำให้พรรคไทยรักไทยได้จัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2544

ในบทความที่เรียบเรียงไว้โดยผู้สันทัดกรณีท่านดังกล่าว-ใน ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ยังได้มีการระบุถึง “กลุ่มการเมือง-มุ้งการเมือง”  กับกรณี “เหตุปัจจัยความขัดแย้ง” ไว้ด้วยว่า… มักเกิดจากประเด็นต่าง ๆ ดังนี้คือ… ความขัดแย้งบนพื้นฐาน ผลประโยชน์ จาก ผลประโยชน์เฉพาะตัว จาก ความขัดแย้งรุนแรงในพรรค ระหว่างชนชั้นนำของพรรคกับสมาชิกพรรคระดับล่าง จากการที่ พรรคมีขนาดใหญ่มาก รวมถึงจากการ เป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล

ทั้งนี้ จากเชิงวิชาการ หันมองสถานการณ์ โดยเฉพาะเหตุปัจจัยจากกรณีเป็นพรรครัฐบาล กับความมั่นคงในฐานะแกนรัฐบาลของ พรรคพลังประชารัฐ และความมั่นคงของ “เก้าอี้” โดยเฉพาะเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น จากที่ก็เคยโดน “เขย่า” แต่แรกโดยกลุ่มสามมิตร ล่วงเลยมาถึงตอนนี้ดูเหมือนจะโดน “เขย่ารุนแรงกว่าที่เคยโดน???”…โดยเฉพาะเก้าอี้นายกฯ ทั้งโดย “กลุ่ม-มุ้งการเมือง” ที่สถานะยังคงยึดโยง เคยยึดโยง และไม่ยึดโยง กับพรรคพลังประชารัฐ

มี “กลุ่ม-มุ้งการเมือง” ก็แน่นอนว่ามี “เกมการเมือง

แล้วก็มักไม่พ้นเกมที่ “เขย่าเสถียรภาพ-เขย่าเก้าอี้

โดย “การเมืองจากนี้ก็ดูจะเขย่าแรงชวนระทึก!!!”.