ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นเนินเขาสูง และเป็นสถานที่ประทับของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองลับแลคนแรกตั้งแต่อดีตกาล เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ทุเรียน ลางสาด ลองกอง อำเภอลับแล พร้อมใจสวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองของชาวลับแล จัดขบวนแห่ที่สวยงามและยิ่งใหญ่ ตามแบบประเพณีโบราณ “แห่น้ำขึ้นโฮง” ของบรรพบุรุษที่สืบทอดมานานกว่า1,000 ปี หลังจากชาวลับแลได้ตั้งรกรากทำมาหากิน ปี พ.ศ.1530 อันประกอบด้วย ขบวนแห่น้ำอบน้ำหอม ต้นผึ้งต้นดอก เครื่องบายศรี และเครื่องบวงสรวง เพื่อประกอบพิธี นำขึ้นสักการะดวงวิญญาณ และสรงน้ำเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ตลอดจนเทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เมื่อขบวนแห่มาถึงยังลานอนุสาวรีย์ฯ นายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายก อบจ.อุตรดิตถ์ ประธานในพิธี นำชาวลับแลอันเชิญดวงวิญญาณของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารลงจากที่ประทับ เพื่อให้ลูกหลานชาวลับแลอีกจำนวนมาก ที่จัดขบวนน้ำอบน้ำหอบ หาบต้นผึ้ง ต้นดอก เครื่องบายศรี เครื่องสักการะ ได้ถวายสักการะ จากนั้นนายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายก อบจ.อุตรดิตถ์, นายปรัชา เสริฐลือชา นายอำเภอลับแล และนายชูชาติ จันทร์วัฒนพงษ์ นายก อบต.ฝายหลวง ร่วมกันผูกผ้าสามสี คล้องพวงมาลัย 7 สี 7 ศอก ก่อนจะนำชาวลับแล ร่วมกันสรงน้ำอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร

ทั้งนี้ ประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง เป็นภาษาลับแล แปลว่า ขึ้นโรง ที่ถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ โดยถือฤกษ์ วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกๆ ปี ปีนี้ตรงกับวันพืชมงคล ชาวลับแลถือว่าเข้าสู่ฤดูฝน จึงพร้อมตั้งจิตเป็นหนึ่งเดียว หาบน้ำอบน้ำหอม ต้นผึ้งต้นดอก เครื่องบายศรี และเครื่องบวงสรวง สักการะและถวายแด่ดวงวิญญาณปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองลับแลคนแรก ตลอดจนเทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพื่อดลบันดาลความร่มเย็นเป็นสุขของชาวลับแล ขอฝนตกต้องตามฤดูกาล ไม่เกิดภัยธรรมชาติ พืชผลทางการเกษตรสมบูรณ์พูนสุข ขายได้ราคาดีและเป็นการแสดงความเคารพกตัญญูกตเวทีต่อผู้สร้างบ้านแปงเมือง บรรพบุรุษที่ล่วงลับ เพื่อความเป็นสิริมงคล ประเพณีอันดีงามของชาวลับแลสืบต่อกันมายาวนานถึง 1,035 ปี