เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 กล่าวถึงนโยบาย “สกลธีโมเดล” ที่มุ่งสร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯ เพื่อให้กรุงเทพฯ ดีกว่าเดิมว่า ต้องการสานต่อเรื่องพื้นที่สาธารณะใกล้บ้านที่สามารถเข้าไปใช้ร่วมกันให้มากขึ้นทั้งกลุ่มครอบครัวที่ต้องการพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจราคาถูก, กลุ่มคนทำงานที่ต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนที่ต้องการพื้นที่ในการใช้ความคิด ทำงานในลักษณะ โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ (Co-Working Space) ซึ่งตอนสมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ทำเรื่องนี้มาตลอด และดำเนินการสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นถ้ามีโอกาสที่ได้กลับไปเป็นผู้ว่าฯ กทม. ตั้งใจจะสานงานนี้ต่อ

นายสกลธี กล่าวต่อว่า สำหรับโค-เวิร์กกิ้งสเปซ ที่ตนอยากทำเพราะไม่ต้องใช้พื้นที่มาก สามารถแบ่งโซนมาทำโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทุนอะไรมากมาย หรือไม่ต้องทำให้หรูหรา เพียงแต่ทำให้เป็นสถานที่ที่สะดวกต่อการทำงาน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น ไวไฟ (Wifi) รวมไปถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงาน ใช้เพียงแค่ตู้คอนเทเนอร์ หรืออาคารเล็กๆ มาทำให้พวกเขาสามารถใช้ทำงานได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก หรือเพิ่มห้องสมุดเล็กๆ เข้าไปให้เด็กๆ ได้มาใช้ในอีกโซนหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีคนจะทำให้มีการค้าขาย คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกลบ้าน แต่เขาจะได้ใช้บริการของรัฐได้อย่างสะดวก

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง ที่ตนอยากจะทำคือ พื้นที่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของกรุงเทพฯ เช่น ตลาดน้อย นางเลิ้ง ที่เป็นชุมชนเก่าสวยงามสามารถดึงความโดดเด่นชุมชนดั้งเดิมของ กทม. ขึ้นมาเป็นจุดขาย ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว หรือ พื้นที่สาธารณะของชุมชน อาจเปิดโชว์งานศิลปะ จัดเป็นงานแฟชั่น หรือกิจกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ นโยบาย “สกลธีโมเดล” เน้นเรื่องการเชื่อมโยงทุกพื้นที่เข้าสู่การบริการของ กทม.ทำให้เป็นทั้งพื้นที่สีเขียว พื้นที่ทำงาน หรือพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายของคนกรุงเทพฯ ทำให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพมากขึ้นจากการใช้พื้นที่มีประโยชน์ได้สูงสุดนั่นเอง.