โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ( ในหลวง รัชกาลที่ 9 ) ที่มีพระมหากรุณาธิคุณมีจำนวนมากหลายพันโครงการด้วยกัน และยิ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ในโครงการพระราชดำริต่างๆนั้น ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยเป็นอย่างมาก

คอลัมน์ “เพื่อแผ่นดินเกิด” เป็นพื้นที่ของการเล่าเรื่องบอกเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยและประเทศชาติผ่านทางโครงการพระราชดำริหรือพระราชกรณียกิจต่างๆ

สำหรับโครงการโคก หนอง นาโมเดล นั้น กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านกระบวนการจิตอาสาเอามื้อสามัคคี สร้างความเข้มแข็งให้กับครัวเรือน ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว เช่นเดียวกับ โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่เกษตรกร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฏีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น

นายสุนทร แววมะบุตร อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55/1 หมู่ 3 ตำบลบ้านแพรก อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเกษตรกรผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฏีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ของกรมพัฒนาชุมชน รุ่นที่ 1ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้กับชีวิตตนเองในพื้นที่ดิน 3 ไร่ ทำเกษตรอินทรีย์ ได้ปรับปรุงพื้นที่ดินใหม่ ด้วยการขุดบ่อน้ำ ทำคลองไส้ไก่ ขยายพื้นที่ปลูกป่า 5 ระดับ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อเป้าหมายตนเองที่จะพึ่งพาตนเอง และก็แบ่งปันคนรอบข้าง เหลือจากแบ่งปันก็นำไปแปรรูปและจำหน่าย

นายสุนทร เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่เรามีงบประมาณอยู่หนึ่งก้อน เมื่อปี 2563 เราสามารถซื้อเป็ดได้ 50 ตัว แต่เนื่องจากมีครัวเรือนอยู่ 30 หลัง เราเลยบริหาร ด้วยการแบ่งเป็ด 50 ตัวให้ 5 ครัวเรือนๆ ละ 10 ตัว โดยที่มีข้อตกลงกันว่าเมื่อคุณเอาเป็ดไปแล้ว คุณจะมีเงินเข้ามาจากการขายไข่โดยประมาณ 10 ตัว น่าจะได้ไข่เกิน 3 แผง แบ่งขาย 1 แผง ราคาประมาณ 160 บาท โดยนำเงินที่ได้นี้เข้ากองกลางเป็นเวลา 7 เดือน จะทำให้ครัวเรือนที่ 6-10 มีเงินซื้อเป็ดเพิ่มขึ้น อีก 50 ตัว เราก็ทำลักษณะเดียวกันต่อไปเรื่อยๆ ก็จะได้ไก่อีก 50 ตัว จนปัจจุบันนี้เรามีไก่ทั้งหมด 100 ตัวและเป็ด 100 ตัว ทำให้ทุกครัวเรือนก็จะมีรายได้ขั้นต่ำเฉพาะการขายไข่เป็ด ไข่ไก่ 100 บาทต่อวัน

นายสุนทร บอกอีกว่า เราบริหารจัดการรายได้ในพื้นที่ของตัวเอง นำประโยชน์คืนสู่สังคม ด้วยการเปิด Academy บ้านแพรกจูเนียร์ ให้ความรู้โมเดล “โคก หนอง นา” พร้อมกับฝึกสอนฟุตบอลให้เยาวชน อายุตั้งแต่ 8 – 13 ปี ประมาณ 30 คน โดยใช้งบจากการจำหน่ายผลิตผลทางเกษตร หลักการยึดถือคือการน้อมนำศาสตร์พระราชา “ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง”

“โครงการนี้เปลี่ยนชีวิตของเขาได้จริงๆ ด้วยการน้อมนำทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา สามารถทำให้หาอยู่และหากินในพื้นที่ได้ สิ่งสำคัญที่จะได้ตามมาก็คือ 1.สุขภาพ 2.ความสุขที่จะได้อยู่ร่วมกับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตากัน ไม่ต้องออกไปเสี่ยงนอกพื้นที่ในช่วงการแพร่ระบาด 3.ชัดเจนที่สุดเลย คือเรามีอาหารกิน เรามีอาหารแบ่งปันช่วยเหลือสังคม หลายคนอาจมองว่าเงินเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 จะพบว่าอาหารต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะถ้าไม่มีอาหารเราอยู่ไม่ได้”

ปัจจุบันนี้ได้เห็นว่าหลายๆคนเริ่มหันมาให้ความสนใจในการทำเกษตร เริ่มหันมาปลูกผักข้างบ้าน ปลูกในตะกร้า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่เราเลือกลิขิตชีวิตด้วยตัวเอง และการมาร่วมโครงการโคก หนอง นา กับกรมการพัฒนาชุมชน สามารถเปลี่ยนชีวิตของหลายๆคนได้ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก เรามีเครือข่ายโคก หนอง นา ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมทำกิจกรรม แบบจิตอาสาและยังขยายภาคีเครือข่ายไปอีก 4 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี นครนายกและปราจีนบุรี ด้วย

สำหรับการเผยแพร่รายงานพิเศษเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ 8 ด้าน 25 โครงการ ที่คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นคณะทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา นำมาเผยแพร่นั้น สามารถติดตามได้ทางทางสื่อมวลชน… หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ( ทุกวันจันทร์ที่ 4 ของเดือน) เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ เพจ facebook วุฒิสภา รายการ 5 เช้าเล่าเรื่อง ททบ.5 ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ 08:30 น ถึง 09:00 (และ facebook, youtube, tiktok 5เช้าเล่าเรื่อง) รายการ zaabtoday ช่อง 9 วันจันทร์ถึงศุกร์เวลา 14.15 . ถึง 15:00 (facebook, youtube, tiktok ของ MCOT)