เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่กระทรวงธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเฟนเฟซบุ๊กไลฟ์ “กระทรวงสาธารณสุข” ว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุข และสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยอมรับ คือชุดตรวจเร็วคือแอนติเจน เทสต์ คิต (Antigen Test kit) หรือ ATK ไม่ใช่ชุดตรวจแอนติบอดี ทั้งนี้ กรณีที่มีการตรวจด้วย ATK แล้วให้ผลเป็นบวก จะเรียกว่า “ผู้ที่น่าจะติดเชื้อโควิด-19” ที่ต้องจัดสถานะเช่นนี้เพราะชุดตรวจแอนติเจนในท้องตลาด มีหลายชนิด บางชนิดคุณภาพไม่สู้ดี ผลความไวกับความจำเพาะอาจจะไม่ถึง 90% แต่โดยส่วนใหญ่ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้การรับรองแล้ว กระทรวงสาธารณสุข รวมถึง สปสช.นำไปใช้นั้นจะให้ผลบวก 95% มีการให้ผลบวก ผลลบ ลวงประมาณ 3-5% ดังนั้นหากผลลบ แต่ผู้ตรวจยังไม่มั่นใจก็สามารถตรวจซ้ำได้หลังจากนั้น 3-5 วัน
ส่วนกรณีที่ตรวจด้วย ATK แล้วผลเป็นบวก ก็ให้เข้าระบบกักตัวดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ได้เลย แต่ต้องไม่ไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนในบ้าน แยกกิน แยกอยู่ แยกนอน แยกกันใช้ห้องน้ำ ถ้าแยกไม่ได้ให้ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย แยกขยะ แยกทุกอย่าง แล้วสิ่งที่ภาครัฐสนับสนุนคือ อาหาร 3 มื้อที่ส่งถึงบ้าน และสนับสนุนเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือด และยาจำเป็น หากไม่มีอาการ และไม่มีโรคประจำตัวก็ไม่ได้รับยา หรือจะกินฟ้าทะลายโจรก็ได้ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจะได้รับยาเร็วขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีอาการแต่มีโรคประจำตัว แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานจากองค์การเภสัชกรรมว่ามียาในสต๊อกประมาณ 10 ล้านเม็ด เดือนหน้าจะทยอยมาเป็นรายสัปดาห์ รวมๆ กว่า 40 ล้านเม็ด ดังนั้นในส่วนนี้ไม่มีปัญหา รวมถึงมีการปรับระบบการเบิกจ่ายยาได้เร็วขึ้น โดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงภาคประชาสังคมด้วย
สำหรับคนที่ผล ATK เป็นบวก แต่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้นั้น อย่างที่ชี้แจงไปว่าเรายังกังวลเรื่องผลบวก ผลลบปลอมอยู่ กลัวว่าจะเป็นการนำคนที่ไม่ได้ติดเชื้อจริง ไปอยู่รวมกับคนติดเชื้อจริง แล้วจะทำให้เกิดการติดเชื้อข้นได้ ดังนั้นแนวทางคือให้กลุ่มที่ตรวจ ATK เป็นผลบวกซึ่งถือเป็นผู้ที่น่าจะติดเชื้อโควิด-19 เซ็นยินยอมรับการรักษา จากนั้นให้อยู่ในศูนย์พักคอย หรือเข้า Community Isolation เพื่อตรวจ RT-PCR ซ้ำ โดยระหว่างที่รอผลตรวจจะต้องมีการแยกกันอยู่ ไม่ให้อยู่รวมกัน ขณะนี้ได้รับรายงานจาก ผอ.สำนักอนามัย ว่าจะมีการยกระดับให้ศูนย์พักคอยทุกแห่งสามารถตรวจ RT-PCR ได้ หรือบางส่วนอาจจะมีการนำเข้าที่ฮอสพิเทล ระหว่างรอตรวจ RT-PCR เพื่อลดปัญหาไม่ได้รับการดูแลระหว่างการรอคอย ทั้งนี้ถ้าให้ผลเป็นลบก็ให้กลับได้
เมื่อถามถึงการดูแลกรณีมีพระภิกษุ สามเณรในโรงเรียนปริยัติธรรมย่านบางนา ติดเชื้อโควิด-19 หลายร้อยรูป มี นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผอ.รพ.สงฆ์ ได้รายงานมาตั้งแต่วันแรกว่า พบพระคุณเจ้าติดเชื้อกันจำนวนมาก จึงปรับพื้นที่แห่งนั้นให้เป็นเหมือน community isolation หรือเรียกว่า temple isolation โดยมีการส่งบุคลากรจาก รพ.สงฆ์ เข้าไปดูแล กรณีอาการไม่มาก จะมีการวัดไข้ วัดออกซิเจนในกระแสเลือด ถวายภัตตาหารและดูอาการทั้งหมด ถ้าพระรูปใดมีอาการเปลี่ยนแปลงทำท่าจะหนักขึ้นเข้าข่ายสีเหลืองเข้ม ต้องการออกซิเจน ก็จะนิมนต์มารักษาที่ รพ.สงฆ์ ต่อไป.