สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ว่าหน่วยงานด้านการควบคุมโรคในมณฑลเจียงซู ร่วมกับบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค และสถาบันทางการแพทย์อีกหลายแห่งของจีน เผยแพร่รายงานที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพิชญพิจารณ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นผลการศึกษาเบื้องต้นจากตัวอย่างเลือดของกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 18-59 ปี ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 "โคโรนาแวค" ของซิโนแวค ครบสองโด๊สตามเกณฑ์
ผลปรากฏว่า ในกลุ่มตัวอย่างซึ่งรับวัคซีนสองเข็มห่างกัน 2 สัปดาห์ มีเพียง 16.9% ยังคงมีระดับแอนติบอดีต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาเกินเกณฑ์สำคัญ เมื่อผ่านไป 6 เดือนหลังการฉีดเข็มที่สอง ส่วนในกลุ่มตัวอย่างซึ่งฉีดวัคซีนสองเข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ ปรากฏว่า 35.2% ยังคงมีระดับแอนติบอดีต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาเกินเกณฑ์สำคัญ เมื่อผ่านไป 6 เดือนหลังการฉีดเข็มที่สอง 
อนึ่ง คณะนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ฉีดวัคซีนของซิโนแวคสองเข็มห่างกัน 2 สัปดาห์ และห่างกัน 4 สัปดาห์ กลุ่มละมากกว่า 50 คนเท่ากัน อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มจำนวนอาสาสมัครทดสอบการรับวัคซีนของซิโนแวคเข็มที่สาม เป็น 540 คน โดยทุกคนรับวัคซีนของซิโนแวคครบสองเข็มประมาณ 6 เดือนก่อนรับการทดสอบ ปรากฏว่า หลังฉีดวัคซีนเข็มที่สาม หรือ "บูสเตอร์" ผ่านไปแล้ว 28 วัน กลุ่มตัวอย่างมีระดับแอนติบอดียับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนาสูงขึ้นประมาณ 3-5 เท่า เมื่อเทียบกับระดับแอนติบอดีของกลุ่มตัวอย่างที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่สอง แบบเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์
ขณะเดียวกัน รายงานระบุด้วยว่า การฉีดบูสเตอร์เร็วเกินไป คือประมาณ 28 วันเท่านั้น หลังผ่านการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง กลับทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้เพียง 1 ใน 3 ของกลุ่มที่ฉีดบูสเตอร์โดยทิ้งช่วง 6 เดือน
อนึ่ง การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้ทดสอบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ และยังคงต้องรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมอีกอย่างละเอียด ว่าระดับแอนติบอดีจากการฉีดวัคซีนเข็มที่สามจะคงอยู่ได้นานเท่าใด.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES