เมื่อวันที่ 26 ก.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการรัฐในการบรรเทาปัญหาหนี้สินประชาชนและและการเข้าถึงสภาพคล่องของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้การดำเนินการต้องครอบคลุมกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตรด้วย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้ออกมาตรการสินเชื่อ 2 โครงการ วงเงินรวม 9 หมื่นล้านบาท คือ 1.โครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้แก่เกษตรกรหรือหรือบุคคลทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการประกอบอาชีพเกษตร หรือลงทุนค้าขายที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก ให้กู้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี ดอกเบี้ย 4% ต่อปีปลอดชำระต้นเงิน 2 ปีแรก
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า 2.โครงการสินเชื่อนวัตกรรมดี มีเงินทุน วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ให้เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่มีทักษะและประสบการณ์ในการประกอบอาชีพนั้นๆ อาทิ กลุ่ม Smart Farmer เพื่อมีเงินไปฟื้นฟูหรือต่อยอดธุรกิจ ดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปีแรก สำหรับการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้าเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วย เป็นการพักชําระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ถึงกําหนดชําระอย่างน้อย 2 เดือน นับจากงวดชําระเดิม
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือขึ้นอยู่กับการได้รับผลกระทบและศักยภาพของลูกค้า ผู้สนใจแจ้งความประสงค์การเข้าร่วมโครงการได้ผ่านช่องทาง LINE Official : BAAC Family เว็บไซต์ https://www.baac.or.th หรือที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.-15 ส.ค.นี้ และสำหรับลูกค้าเกษตรกรและบุคคล 19 ก.ค.-15 ธ.ค. ปีนี้เช่นกัน
น.ส.รัชดา กล่าวว่านอกจากนี้คู่ขนานไปกับสองมาตรการดังกล่าว กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ได้จัดโครงการ “บังคับคดีร่วมใจไกล่เกลี่ยช่วยเหลือเกษตกรถูกยึดทรัพย์จำนอง” เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เจรจา ช่วยให้ลูกหนี้ไม่ถูกยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ หรือนำไปขายทอดตลาดในที่สุด โครงการนี้มีจนถึง 15 ก.ย.นี้ ในพื้นที่ กทม. และสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ และย้ำว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม อีกทั้งการประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ค.) จะมีการพิจารณาถึงมาตรการลดค่าเทอมของนักเรียน-นักศึกษาทั้งสถาบันรัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้มาก.