“คลอง” เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร (กทม.)  พื้นที่บริเวณริมคลอง ได้รับการปรับปรุงให้สวยงามและเป็นระเบียบ โดยคลอง 3 สายที่กำลังจะเปลี่ยนสู่การเป็น “คลองสวย น้ำใส” ได้แก่ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ

เมื่อพูดถึงคลองที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนกรุงเทพฯ สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณภาพน้ำ กทม. จึงให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นที่มาของน้ำในคลองสายต่าง ๆ ที่ใสขึ้นดังที่เห็นประจักษ์ อีกส่วนคือการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล ไม่ว่าจะเป็นการเก็บ งับ ตัก และขนย้ายไปกำจัด ที่ส่งผลให้เกิดความสวยงามสะอาดตา และช่วยส่งเสริมในเรื่องคุณภาพน้ำด้วย

นอกจากความใสสะอาดของคลองแต่ละสายแล้ว กทม. ยังได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ริมคลองควบคู่ไปด้วยกัน ส่วนสำคัญคือการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยจะเห็นได้จากคลองหลายสายที่มีภูมิทัศน์ที่ดีขึ้น ทั้งความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย พื้นที่รกร้างได้รับการดูแลให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทางเท้าริมคลองที่ประชาชนผู้โดยสารเรือจะได้ใช้งานอย่างปลอดภัย

ไม่เพียงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้เรือในการสัญจรเท่านั้น ประชาชนอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการปรับภูมิทัศน์คือชาวริมคลอง ซึ่งทุกคนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกับ กทม. ที่จะทำให้บ้านและชุมชนของพวกเขาน่าอยู่ยิ่งขึ้น ทั้งการทำความสะอาดบ้านเรือน จัดการขยะไม่ให้ตกลงสู่คลอง อีกทั้งยังให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงพื้นที่บริเวณใกล้เคียงบ้านเรือนให้เกิดประโยชน์กับชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเกื้อกูลกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวโดยตรง การปรับภูมิทัศน์ริมคลองที่ กทม. ทำมาโดยตลอดนั้น ได้กลายเป็นส่วนเติมเต็มให้ธุรกิจริมคลองทุกแขนงมีความพร้อมในการฟื้นฟูในระยะเริ่มต้น โดยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักเต็มรูปแบบอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นย่านค้าขาย ร้านอาหาร คอมมิวนิตีมอลล์ ตลาดนัด สตรีทฟู้ด สตรีทอาร์ต และแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่เรียงรายตลอดริมคลองสายต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ปี 2565 กทม. ยังคงดำเนินแผนงานในการฟื้นฟูและพัฒนาคลอง โดยมีคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ เป็นกลุ่มคลอง 3 สายหลักที่ได้รับการขับเคลื่อนในการพัฒนาอย่างเข้มข้น ด้วยความร่วมมือกันของสำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักงานประชาสัมพันธ์ และสำนักงานเขตทั้ง 21 เขตที่มีคลองในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด “รับรู้ ยอมรับ ปรับเปลี่ยน”

โดยการ “รับรู้” คือการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้และตระหนักถึงแหล่งกำเนิดน้ำเสีย สาเหตุของน้ำเน่าเสีย ปัญหาน้ำท่วมขังที่เกิดจากขยะ สิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ และการแก้ไขปัญหาที่ต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

“ยอมรับ” คือการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ความจำเป็นและประโยชน์ของการดำเนินงาน รวมทั้งสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้เกิดการยอมรับถึงปัญหา ตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับในมิติต่าง ๆ ตลอดจนยินดีให้ความร่วมมือ

และ “ปรับเปลี่ยน” คือการสื่อสารเพื่อสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ที่จะส่งผลให้คุณภาพน้ำดีขึ้น คุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ดีขึ้น และเกิดชุมชนริมคลองต้นแบบ

คลองในตำนานของไทยอย่าง “คลองแสนแสบ” ถือเป็นหนึ่งต้นแบบในการปรับภูมิทัศน์ของคลองทั่วกรุงเทพฯ โดยสิ่งที่ กทม. กำลังดำเนินการ คือการตรวจสอบการปล่อยน้ำเสียจากชุมชนริมคลองเป็นรายหลัง ทั้งน้ำทิ้งจากห้องครัว ห้องน้ำ รวมถึงแนวทางการบำบัดน้ำเสียและการติดตั้งบ่อดักไขมัน พร้อมจัดทำแผนสำรวจและประชาสัมพันธ์แหล่งกำเนิดน้ำเสียริมคลองแสนแสบและคลองสาขาให้เสร็จสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกชุมชนริมคลองแสนแสบที่มีศักยภาพของทั้ง 21 เขต พัฒนาให้เป็น “ชุมชนต้นแบบ 1 เขต 1 ชุมชน” เพื่อให้กำลังใจสมาชิกของชุมชนและสร้างแรงบันดาลใจให้อีกหลายชุมชนในการร่วมกันดูแลคลองที่เปรียบเสมือนแหล่งชีวิตของทุกคนอย่างยั่งยืน

 “คลองลาดพร้าว” กำลังปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และสวยงาม พร้อมกับแก้ไขปัญหามลพิษน้ำเน่าเสีย ซึ่งจะส่งผลให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนริมฝั่งคลอง ในส่วนภาคประชาชนได้มีการจัดกิจกรรมอาสาพัฒนาคลองลาดพร้าว ร่วมกันเทน้ำหมักชีวภาพเพื่อปรับสภาพน้ำในคลอง พร้อมเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้ผู้พักอาศัยในชุมชนริมคลองลาดพร้าวช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำสาธารณะ ไม่ทิ้งขยะลงในลำคลอง ตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

ในอนาคต กทม. ยังมีแผนขยายเส้นทางการให้บริการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาสู่คลองลาดพร้าว ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของชาวคลองลาดพร้าวดียิ่งขึ้น

นอกจากการเดินหน้าเก็บขยะและสิ่งปฏิกูลเพื่อดูแลความสะอาดและทัศนียภาพโดยรวมแล้ว กทม. ยังได้ทำความเข้าใจกับประชาชนริมคลองเปรมประชากร เพื่อขอความร่วมมือในการรื้อย้ายบ้านที่รุกล้ำคลอง ซึ่งเป็นไปตามโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ โดยชาวริมคลองได้ให้ความยินยอมพร้อมให้ความร่วมมือ ด้วยเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนในชุมชน

อ่านข้อมูลกทม.เพิ่มเติม ได้ที่ E-book : https://link.bookkurry.com/bkk_news_issue_280