นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจเอฟทีไอ โพล ครั้งที่ 16 หัวข้อ รัฐควรเร่งดำเนินการท่ามกลางวิกฤติโควิด-19, ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน, ราคาพลังงานสูง จากการสำรวจความเห็นจากสมาชิก ส.อ.ท. ครอบคลุมผู้ประกอบการ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ รวมทั้งยังมีปัญหาการขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นวิกฤติในช่วงนี้ เช่น การทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ และสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว
สำหรับความเห็น ภาครัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากราคาพลังงานแพงอย่างไร 3 อันดับแรก ทบทวนการปรับขึ้นเอฟที 68.30% รองลงมา ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า 57.60% และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์ 55.00% เพื่อการประหยัดพลังงาน, ภาครัฐควรดำเนินการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และวัตถุดิบแพงอย่างไร อันดับแรก ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต 63.90% ต่อมา ปลดล็อกเงื่อนไขและโควตาการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะในวัตถุดิบที่ขาดแคลน 63.00% และควบคุมและดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินจริง 53.50%
ส่วนคำถาม ภาครัฐควรดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคด้านการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร อันดับแรก ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ 71.10% ในภูมิภาค เช่น ทางราง, ทางเรือ เป็นต้น ต่อมา เร่งการเชื่อมโยงใบอนุญาตใบรับรองต่าง ๆ ของกลุ่มสินค้าหลัก 57.60% อันดับที่ 3 ส่งเสริมและพาผู้ประกอบการออกไปเปิดตลาดที่ไทยมีศักยภาพ 57.20% ขณะที่มุมมองภาครัฐควรปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างไร อันดับแรก ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ แทนค่าแรงขั้นต่ำ 71.10% รองลงมา เร่งพิจารณาเปิดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย 60.00% ให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง และขอให้ภาครัฐหารือกับรัฐบาลประเทศต้นทางในระดับรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดการนำเข้า 54.60% แรงงานต่างด้าวภายใต้เอ็มโอยูโดยเร็ว
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า มุมมองภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการใดเพื่อส่งเสริมการเปิดประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย อันดับแรก สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว 64.10% ต่อมา ปรับกระบวนการออกใบอนุญาตเวิร์ค เพอร์มิต เพื่ออำนวยความสะดวก 60.40% และดึงแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ และผ่อนปรนเงื่อนไขและเพิ่มมาตรการจูงใจนักลงทุนศักยภาพให้เข้ามาลงทุน 60.20% และอาศัยในประเทศ