น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.อยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว กิจกรรมเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันจากโควิด และราคาพลังงานสูง โดย ธปท.จะติดตามการระบาดโควิด การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนราคาสินค้า และผลของความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนในเรื่องของการคว่ำบาตร ส่วนเงินบาทที่ผันผวนมาจากปัจจัยต่างประเทศมากกว่า ทั้งความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ราคาทองสูงมีแรงขายบ้างทำให้เงินบาทในไทยผันผวน แต่ถ้าเทียบความผันผวนประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่น และไม่ได้ผันผวนผิดปกติ
ทั้งนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ ดูจะฟื้นตัวแต่ไม่ได้หวือหวา เมื่อเทียบไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาที่ฟื้นตัวได้ดี ซึ่งไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิดโอมิครอน ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หากการระบาดโควิดจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดหลังสงกรานต์ และจะค่อยๆ ปรับดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ธปท.เดินสายพูดคุยกับภาคธุรกิจในเดือน มี.ค. พบว่าการดำเนินธุรกิจโดยรวมทรงตัว บางภาคได้รับผลกระทบบ้าง หลักๆ ได้รับแรงกดดันจากโควิดโอมิครอน และต้นทุนการผลิตที่สูง ด้านภาคการผลิตดีขึ้นจากเดือนก่อนโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าได้ ส่วนโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ใกล้เคียงเดือนก่อน ขณะที่การค้าแย่ลง อุปโภคบริโภค ชะลอบริโภคสินค้า เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง การลงทุนยังไม่ฟื้นตัว เพราะราคาวัสดุก่อสร้างสูง
“ธปท.จะติดตามการระบาดโควิด ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนส่งผลต่อราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าปรับสูงขึ้น จากปัจจุบันภาครัฐเห็นความจำเป็นช่วยเหลือด้านต้นทุนที่สูง ส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำมีรอบมีคณะกรรมการหารือกันอยู่แล้ว ตอนนี้ภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยาเบื้องต้นไปก่อน”