เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ว่า เวลานี้เจ้าหน้าที่ของเราเข้มงวดในเรื่องการการเข้าออกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และพื้นที่อื่นๆ ในสังกัด ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่มีข่าวเรื่องการแพร่ระบาดที่อุทยานฯกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตามเวลานี้คนเข้าออกพื้นที่อุทยานฯ น้อยอยู่แล้ว แต่เมื่อเข้ามาก็มีมาตรการเฝ้าระวังโดยล้อรถยนต์ต้องผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อ ทั้งนี้ได้ประสานกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการฉีดวัคซีนให้กับปศุสัตว์ในพื้นที่โดยรอบป่าอนุรักษ์ ส่วนการฉีดวัคซีนสัตว์ป่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากฉีดได้เราก็จะพยายามฉีดให้ นอกจากนั้นได้ติดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเพิ่มเติมในหลายจุดเพื่อติดตามมอนิเตอร์โรคในสัตว์ป่า พื้นที่ตรงนี้มีจำนวนหลายแสนไร่ ซึ่งยากลำบากในการดูแล ถ้าจะให้เจ้าหน้าที่ไล่ตามฉีดวัคซีนก็คงตามไม่ไหว

นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าถึงกรณีการพบรอยโรคลัมปี สกิน ในสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ว่า ขณะนี้ที่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นสัตว์ป่วยและตายจากโรคลัมปี สกิน มีพื้นที่เดียวคือ กระทิง 1 ตัว อุทยานฯ กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาแผงม้า ได้มีการนำตัวอย่างเลือดของกระทิงมาตรวจสอบ พบว่า 4 ตัว มีผลเป็นลบ ดังนั้นแม้มีรอยโรค หรือมีตุ่มตามร่างกายก็อาจยังไม่ใช่โรคลัมปี สกิน การจะยืนยันว่าสัตว์ป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน หรือไม่ ต้องยืนยันด้วยผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการเท่านั้น

นสพ.ภัทรพล กล่าวต่อว่า ในส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่พบวัวแดงอาจเป็นสัตว์ป่วยสงสัยนั้น เจ้าหน้าที่ก็เฝ้าระวังและติดตามอยู่ ว่าวัวแดงตัวที่พบรอยโรคนั้นมีรอยโรคเพิ่มขึ้นหรือไม่ และจำนวนวัวแดงในฝูงพบรอยโรคเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อประเมินความรุนแรงและความเสี่ยงของโรค ถ้าวันหนึ่งสัตว์ป่วยสงสัยที่เจ้าหน้าที่ติดตามพบรอยโรคเพิ่มรุนแรง การเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการ การเข้าไปรักษา ก็จะเป็นขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามวัวแดงที่พบมีรอยโรคในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั้น พบตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. เวลานี้ผ่านมาเดือนกว่าแล้ว ซึ่งโรคมีระยะฟักตัว 28 วัน ถ้าอาการรุนแรงหรือหนัก น่าจะมีการแสดงออกให้เห็นได้มาก ซึ่งกรณีของสัตว์ป่าโอกาสได้รับเชื้อมีบ้าง แต่สัตว์ป่ามีการเคลื่อนที่อย่างอิสระ มีกลไกธรรมชาติในการป้องกันแมลงพาหะ หากไม่ได้รับเชื้อซ้ำ ๆ ย้ำๆ ก็สามารถหายเองและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงในคอกปศุสัตว์ที่เคลื่อนที่น้อย โอกาสได้รับเชื้อย้ำๆ ซ้ำๆ จากแมลงพาหะจึงสูงกว่า

นสพ.ภัทรพล กล่าวว่า เวลานี้สำหรับสัตว์ป่า เราประเมินว่าสัตว์ป่าป่วยได้ แต่ยังไม่มีนัยเท่าตัวที่ตาย ซึ่งกรมอุทยานฯ มีทีมติดตามตัวที่ป่วย เพื่อดูว่ารอยโรคมีอะไรบ้าง ทุกพื้นที่มีการเฝ้าระวังติดตามสัตว์ป่วยสงสัยอยู่ อย่างไรก็ตามลักษณะผิวหนังที่มีรอยตุ่มนั้น อย่าลืมว่าสัตว์ที่มีตุ่มนูนอาจเกิดจากแมลงดูดเลือดกัดซึ่งเป็นปกติ โดยเฉพาะบริเวณสะโพกซึ่งเป็นจุดบอดของสัตว์ในการไล่แมลง แต่แมลงที่กัดอาจไม่มีเชื้อ สิ่งที่ดำเนินการได้ในขณะนี้คือการทำวัคซีนในปศุสัตว์รอบพื้นที่ป่า การกำจัดแมลงพาหะ แมลงนำโรคนอกพื้นที่ป่าโดยเฉพาะตามฟาร์มปศุสัตว์โดยรอบเขตป่า การห้ามไม่ให้มีการนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปเลี้ยงในป่า และไม่ให้สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ โดยร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท้องถิ่น นักอนุรักษ์ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ

นสพ.ภัทรพล กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้จากการติดตามรายงานจากประเทศในแอฟริกา หลังยุติและควบคุมการแพร่ระบาดได้ ได้มีการสุ่มตรวจในสัตว์กีบกลุ่มแอนติโลป พบว่าสัตว์เหล่านี้มีภูมิคุ้มกัน มีแอนติบอดี เป็นการปรับตัวตามธรรมชาติ จึงน่าจะเป็นแนวปฏิบัติในบ้านเราได้เป็นอย่างดี โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ให้นโยบายในการจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อเป็นระบบในการป้องกันและกำจัดเชื้อในพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ น้ำส้มควันไม้ในรถทุกคันที่เข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งการดำเนินการในพื้นที่ปศุสัตว์โดยรอบป่าในพื้นที่ที่เราสามารถควบคุมได้

“กรมอุทยานฯ เข้มงวดในการติดตามสัตว์ป่าสงสัยเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นสัตว์ป่วยยืนยันหรือไม่ และทุกพื้นที่รายงานมาทุกวัน ระยะฟักตัวของโรคลัมปี สกิน มีระยะ 28 วัน หากมีความผิดปกติก็น่าจะคาดการณ์ได้บ้าง ซึ่งคิดว่าแนวทางดำเนินการมาถูกทางแล้ว แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้” นสพ.ภัทรพลกล่าว .