สวัสดีวันหยุดสุดสัปดาห์กับ สาระยานยนต์จากทุกมุมโลกจาก “อ้วนซ่า แอบซิ่ง” อีกเช่นเคย และในครั้งนี้จะเป็นเรื่องราวของหมัดเด็ด ของรถไฟฟ้าสไตล์ ครอสโอเวอร์ เอสยูวี 5 ประตู จากแดนกิมจิ ที่ชนะน็อกคู่แข่งได้เป็นแชมป์รางวัล รถยนต์ยอดเยี่ยมภาคพื้นยุโรปแห่งปี 2022 อย่าง “เกีย อีวี 6” (KIA EV6) ถือเป็นรถไฟฟ้ารุ่นที่ 3 ตามหลัง นิสสัน ลีฟ (Nissan Leaf) และ จากัวร์ ไอ-เพซ (Jaguar i-Pace) ที่คว้ารางวัลไปก่อนหน้านี้ในปี 2011 และ 2019 ตามลำดับ และเป็นรถรุ่นแรกของเกาหลี ที่คว้ารางวัลนี้มาได้

แน่นอนว่าในยุคนี้นั้น นับว่ายากที่รถยนต์เครื่องสันดาปภายในแบบดั้งเดิมจะผงาดขึ้นมาได้อย่างองอาจอีกครั้ง ด้วยกระแสการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงาน ทำให้รถที่ขึ้นมาเป็นตัวเต็ง 3 อันดับแรกนั้นเป็นรถไฟฟ้าทั้งสิ้น โดย เกีย อีวี 6 นี้ได้รับคะแนนไป 279 ตามมาด้วยรถ เรโนลต์ แมแกน อี-เทค อิเล็คทริค (Renault Megane E-Tech) จากฝรั่งเศส ที่ตามมาห่างๆ ด้วยคะแนน 265 คะแนน

ที่สามคือ รถเกาหลีอีกรุ่นที่ได้นำเข้ามาเปิดตัวในบ้านเราแล้ว (ใครสนใจก็ไปชมได้ที่ ชั้น 3 ศูนย์การค้า สามย่านมิตรทาวน์) นั่นก็คือ ฮุนได ไอออนิค 5 (Hyundai Ioniq 5) รถไฟฟ้าร่วมค่าย (ปัจจุบัน เกีย และฮุนได มีสัมพันธ์แนบแน่น และรุ่น ไอออนิค 5 นี้ก็ใช้พื้นฐานแพลตฟอร์ม E-GMP ร่วมกับ เกีย อีวี 6 ด้วย) ด้วยคะแนน 261 คะแนน

แน่นอนว่าเมื่อได้เห็นรูปโฉมของ เกีย อีวี 6 แล้วก็ต้องอุทานมาดังๆว่า “ว้าว” โดยเฉพาะในด้านข้างนั้น ถึงจะเป็นรถที่สูงใหญ่ แต่หลังคาที่แบนยาวกลับซ่อนรุปทรงได้อย่างน่าแปลก และในส่วนด้านท้ายนั้น เรียกได้ว่า โดดเด่นจริงๆ โดยผลงานออกแบบรูปทรงของรถรุ่นนี้เป็นฝีมือของนักออกแบบมือฉกาจอย่าง คาริม ฮาบิบ (Karim Habib) อดีตหัวหน้าทีมออกแบบของบีเอ็มดับเบิลยูเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้น ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะโดดเด่นและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

โดยความแตกต่างด้านรูปทรงกับ พี่น้องร่วมค่าย ฮุนได ไอออนิค นั้นเรียกได้ว่า แตกต่างในทุกด้าน ในขณะที่ฮุนได เน้นความเป็นเหลี่ยมสัน เรียบง่าย แต่เกีย อีวี 6 นั้นมีความเป็นมัดกล้ามให้อารมณ์สปอร์ตดูพร้อมจะออกแอคชั่นได้ทุกเมื่อ ซึ่งเมื่อดูสมรรถนะแล้วก็เข้ากันได้ดีกับรูปลักษณ์

เกีย วางแผนเรื่องมอเตอร์สำหรับรถรุ่นนี้ไว้ ไม่แตกต่างกับ ฮุนได ไอออนิค 5 นัก โดยเริ่มต้นด้วยรุ่นมอเตอร์เดี่ยวขับเคลื่อนล้อหลังที่มาพร้อมแบตเตอรี่แบบ ลิเทียมไอออนโพลิเมอร์ ขนาดความจุเริ่มต้น 58 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งมีกำลังเริ่มต้นที่ 168 แรงม้า และแรงบิด 350 นิวตันเมตร จะวิ่งได้ไกล 394 กิโลเมตร และถ้าชอบความแรงจะขยับเพิ่มขึ้นเป็นรุ่น มอเตอร์คู่ขับเคลื่อนสี่ล้อ จะมีแรงม้าที่ 232 แรงม้ากับแรงบิด 605 นิวตันเมตร

ส่วนถ้าอยากจะได้แบตเตอรี่ที่มีความจุเพิ่มขึ้นเพื่อให้วิ่งได้ไกลขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มขนาดความจุแบตเตอรี่เป็น 77.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยเริ่มที่รุ่นมอเตอร์เดี่ยวขับเคลื่อนล้อหลัง 225 แรงม้า มีแรงบิด 350 นิวตันเมตร รุ่นนี้จะวิ่งได้ไกลถึง 528 กิโลเมตรเลยทีเดียว และถ้าเป็นมอเตอร์คู่ ขับเคลื่อนสี่ล้อ จะมีกำลัง 321 แรงม้า และมีแรงบิด 605 นิวตันเมตร (สังเกตได้ว่า แรงบิดของมอเตอร์ ทั้งรุ่นแบตเตอรี่เล็กและใหญ่นั้นไม่แตกต่างกัน ต่างกันที่แรงม้าเท่านั้น)

ส่วนรุ่นท็อปนั้นคือรุ่น GT ก็จะใช้แบตเตอรี่ 77.4 กิโลวัตต์ชั่วโมงเหมือนเดิม แต่ใช้มอเตอร์มีกำลังมากถึง 577 แรงม้า และมีแรงบิดสูงถึง 740 นิวตันเมตรแทน จะสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 ได้ในเวลาเพียง 3.5 วินาที เท่านั้น! และแน่นอนว่ายิ่งแรง ระยะทางวิ่งก็จะสั้นลง ดังนั้นต้องเลือกเอา จะเอาแรง หรือจะเอานาน…. (อ้วนซ่าหมายถึงรถนะ ไม่ใช่เรื่องอื่น)

ต้องรอลุ้นว่า เกีย ในประเทศไทย จะกล้านำรถสุดเจ๋งรุ่นนี้มาขายในบ้านเราหรือไม่ แต่เท่าที่เห็นรถเอ็มพีวีหรูอย่าง เกีย คานิวัล (Kia Carnival) ที่ทำยอดได้ไม่เลว และถ้าอัตราสรรพสามิตรถไฟฟ้านำเข้าจากเกาหลี อยู่ในอัตราที่ไม่ขูดเลือดขูดเนื้อ นี่ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าใช้ขอรับ!