เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านระบบ ZOOM ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า อาคาร ศอ.บต. โดยมี นายกฤษฎา เคลือบมณี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนจากการยางแห่งประเทศไทย การยางฯในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้าร่วมประชุม เพื่อรายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่ผู้แทนการยางแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่า ในเดือนมกราคม พื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีการระบาดทั้งสิ้น 753,698 ไร่, จังหวัดยะลา 37,115 ไร่, จังหวัดปัตตานี 7,813 ไร่, จังหวัดสงขลา 4,366 ไร่, จังหวัดสตูล 50,428 ไร่ รวมการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในเดือนมกราคมทั้งสิ้น 853,420 ไร่ ในส่วนของเดือนกุมภาพันธ์ มีเพียงพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเท่านั้นที่มีการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพารา จำนวน 150,000 ไร่ ผู้แทนการยางแห่งประเทศไทยทั้ง 5 จังหวัด กล่าวรายงานการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมาว่า ได้แนะนำให้ประชาชนใช้ปุ๋ยที่มีการผสมเองมากกว่าปุ๋ยเคมี อีกทั้งแนะนำให้มีการปลูกยางสายพันธุ์ PM1 เพื่อลดปัญหาของโรค เสมือนแปลงตัวอย่างที่การยางได้มีการปลูกเพื่อวิจัย

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในช่วงวิกฤติของใบยางร่วง สามารถนำพืชผักชนิดอื่น ๆ ไปขายเพิ่มรายได้สำหรับการระบาดของโรคใบร่วงยางพารา หรือ Pestalotiopsis sp. เกิดจากเชื้อราระบาดรุนแรงในประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. 2559 และระบาดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ โรคดังกล่าวได้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศมาเลเซียเมื่อปี พ.ศ. 2560 และแพร่กระจายอย่างหนักในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส สำหรับลักษณะอาการของโรค คือ จะปรากฏบนใบแก่ ลักษณะเป็นแผลกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 0.5 เซนติเมตร เริ่มแรกอาการบนใบเป็นรอยสีเหลืองค่อนข้างกลม และต่อมาจะตายแห้งเป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยจะพบบนใบมากกว่า 1 แผล และต่อมาใบจะร่วงในที่สุด ในส่วนผลกระทบจากโรคทำให้ใบแก่ร่วงอย่างรุนแรงในยางพาราทุกพันธุ์ โดยเฉพาะสวนยางใหญ่ ทำให้ใบยางร่วงอย่างรุนแรงจนถึงร่วงหมดทั้งต้น ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์.