เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 10 ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีดำ ผบ. 21/2560 ที่ ด.ช.วิตศรุต เหลี่ยมสีจันทร์ หรือ น้องพอตเตอร์ โดย น.ส.ศุฑาทิพย์ มีสมบูรณ์ มารดา เป็นโจทก์ฟ้อง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหาย 2 ล้านบาท

โจทก์ฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 58 น้องพอตเตอร์อายุ 8 เดือน ได้เข้ารับการผ่าตัดหัวใจที่ รพ.มหาราช จ.นครราชสีมา ที่อยู่ในความดูแลของจำเลย หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นมีการเคลื่อนย้ายน้องพอตเตอร์ไปที่ห้องพักฟื้น แต่เกิดเหตุท่อช่วยหายใจที่สอดไว้ที่ปากเคลื่อนออก ทำให้น้องพอตเตอร์หัวใจหยุดเต้น ขาดอากาศหายใจไป 5 นาที 10 วินาที ก่อนเจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือกู้ชีพจรกลับมาได้ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาโรคด้วยความประมาทเลินเล่อ ปราศจากความระมัดระวังของจำเลย ทำให้น้องพอตเตอร์กลายเป็นผู้พิการ

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยไม่ได้ทำท่อช่วยหายใจหลุดในขณะเคลื่อนย้ายโจทก์ภายหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น และบุคลากรทางการแพทย์ได้ปฏิบัติการกู้ชีพเป็นไปตามหลักวิชาการทางการแพทย์แล้ว การที่โจทก์สมองพิการเสียหายถาวรไม่ได้เป็นผลมาจากการประมาทเลินเล่อของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกผู้บริโภค วินิจฉัยว่า จำเลยไม่สามารถนำสืบให้รับฟังได้โดยชัดแจ้งว่า เหตุที่โจทก์สมองพิการเสียหายถาวรช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่ได้เป็นผลมาจากท่อช่วยหายใจที่ใส่ให้แก่โจทก์หลังจากการทำการผ่าตัดหลุด หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้โจทก์สมองพิการถาวรช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อันเป็นผลมาจากการประมาทเลินเล่อของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ 2538 มาตรา 2 วรรค 1

พิพากษากลับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางด้านจิตใจ ค่าทนทุกข์ทรมาน 1 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาล 1 ล้านบาท และค่าเสียหายที่เป็นรายได้ในอนาคต 5 แสนบาท รวม 2.5 ล้านบาท ให้แก่โจทก์

จำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ตั้งแต่การเตรียมผ่าตัด การผ่าตัด และเคลื่อนย้ายหลังการผ่าตัด จำเลยได้ทำตามขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ส่วนท่อช่วยหายใจที่หลุดขณะเคลื่อนย้ายนั้นฟังไม่ได้ว่าเกิดจากการประมาทของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลย ถือเป็นเหตุสุดวิสัยไม่อาจคาดหมายได้ เพราะฉะนั้น บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ศาลฎีกาจึงพิพากษาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับยกฟ้อง

ภายหลัง น.ส.ศุฑาทิพย์ มารดาของน้องพอตเตอร์ กล่าวด้วยความรู้สึกผิดหวัง เมื่อได้ยินคำพิพากษาศาลฎีกาถึงกับพูดไม่ออก ส่วนนายสมาน เหลี่ยมสีจันทร์ สามีร่ำไห้ด้วยความเสียใจ เพราะเราสองคนต่อสู้เพื่อลูกมาหลายปี จนตอนนี้น้องพอตเตอร์อายุ 7 ขวบแล้ว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องคอยดูแลอาบน้ำ ให้อาหารเหลวทางหน้าท้องวันละ 6 มื้อ สุดท้ายเราสองคนพ่อแม่จะเลี้ยงดูน้องพอตเตอร์ต่อไป ไม่ว่าลูกจะอยู่ในสภาพแบบไหนก็ตาม

ด้านนางกอบพร วงศ์คำ ทนายความของน้องพอตเตอร์ กล่าวว่า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจึงไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่ในการรักษานั้น ทุกขั้นตอนต้องมีการตระเตรียมการในการช่วยเหลือ เพราะระบบสมองหากขาดอากาศหายใจ 4-5 นาที คงช่วยให้กลับมาเป็นปกติไม่ได้แล้ว ทำให้น้องพอตเตอร์ต้องอยู่ในสภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จากนี้ยังมีผลในคดีอาญาที่ยังรอคำพิพากษาอยู่ ขั้นต่อไปคงต้องยื่นถวายฎีกาเพื่อหาช่องทางในการช่วยเหลือครอบครัวของน้องพอตเตอร์