น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีปัญหาวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ยืนยันไม่กระทบกับเสถียรภาพในด้านต่างประเทศของไทย ซึ่งอาจเห็นผลกระทบบ้างจากค่าเงินช่วงนี้ดูผันผวน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน เพราะรัสเซีย และยูเครน ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งกระทบราคาสินค้าตลาดโลก โดยเฉพาะไทยที่นำเข้าน้ำมันสูง แต่การค้าไทยระหว่างรัสเซียและยูเครนไม่ได้มาก
ส่วนการคว่ำบาตรระบบชำระเงินสวิฟท์นั้น ยืนยันระบบการชำระเงินไทยไม่มีปัญหา เป็นเรื่องระบบการชำระเงินของโลก ซึ่งขอดูความชัดเจนและทิศทางก่อน ว่ามีธนาคารไหนบ้างที่เข้าร่วมคว่ำบาตรครั้งนี้ หรือจะตัดระบบชำระเงินประเภทไหนบ้าง ซึ่งในระบบสวิฟท์สามารถกำหนดได้ว่าธุรกรรมใดบ้าง เชื่อว่าถ้าเกิดขึ้นจริง ทำให้ระบบการชำระเงินรัสเซียมีปัญหา เข้าใจว่าแต่ละประเทศจะมีแผนฉุกเฉินไว้แล้ว
“ระบบสวิฟท์ เป็นระบบการส่งข้อความให้สามารถตรวจสอบได้ก่อนโอนเงินเข้าบัญชีต่าง ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบชำระเงิน และเกิดขึ้นแค่ในรัสเซีย ซึ่งมีระบบอื่นในการสำรองสวิฟท์ แต่อาจไม่ได้ดีเท่า เข้าใจว่ายังอยู่ระหว่างการหารือกันถึงการตัดสวิฟท์ออกจากระบบชำระเงินเพื่อคว่ำบาตรรัสเซีย”
ขณะที่ธุรกิจไทยที่ต้องให้ระบบสวิฟท์ชำระเงินนั้น ในแต่ละแห่งมีแนวทางบริหารจัดการได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาปัญหาคว่ำบาตรไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มีมาเป็นระยะ แค่ครั้งนี้จะใหญ่กว่าครั้งก่อน ๆ ซึ่งตอนนี้คงต้องรอความชัดเจนก่อน และเชื่อว่ารัสเซียมีแผนสำรอง และภาคธุรกิจก็จะมีช่องทางบริหารจัดการได้ โดยธนาคารพาณิชย์ได้ติดต่อลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบ และมีวิธีบริหารจัดการอยู่แล้ว ซึ่ง ธปท. จะติดตามและคุยกันใกล้ชิด
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในส่วนเศรษฐกิจไทยนั้น ธปท. จะนำข้อมูลมาพิจารณากันในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้า เพื่อทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้น และตัวเลขนักท่องเที่ยว หลังจากมีการระบาดโควิดโอมิครอน โดยคาดว่าผลกระทบโอมิครอนจะอยู่ที่ครึ่งปีแรกปีนี้เท่านั้น ก่อนจะคลี่คลายได้ในครึ่งปีหลัง และทำให้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยหลังจากนั้น