เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ปัจจุบันการรักษาผู้ติดเชื้อไม่มีอาการจะเน้น HI/CI First ซึ่งเป็นระบบมาตรฐาน มีแพทย์ติดตาม มียา เครื่องวัดออกซิเจน และอาหาร 3 มื้อให้ โดยข้อมูล HI จากทุกสังกัดใน กทม. รวถึงศักยภาดของบุคลากร สามารถรับรับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการน้อยได้วันละ 5,540 ราย ส่วน CI มีการดำเนินการ 3,481 เตียง กทม.จะเปิดเพิ่มอีก 13 แห่ง รวมแล้วจะมีประมาณ 4 พันเตียง ดังนั้นทั้ง HI/CI ใน กทม.จะสามารถถรองรับได้กว่า 1 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ต่างจังหวัดก็มีจำนวนมาก

ส่วนเตียงสำหรับผู้ป่วยใน รพ.ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึง ฮอสพิเทลด้วย ปัจจุบันมีการครองเตียงประมาณ 8 หมื่นเตียง ยังเหลือเตียงว่างเกินครึ่ง ดังนั้นในส่วนของเตียงถือว่ามีเพียงพอ อาจจะมีบางแห่งที่ตึงบ้าง เช่น สถานพยาบาลในสังกัดกรมควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม เตียงสำหรับผู้ป่วยใน รพ.เด็ก แต่ก็ใช้ระบบการหมุนเวียน เมื่อเด็กอาการดีขึ้น ก็ให้เข้าสู่ระบบการดูแลแบบผู้ป่วยอาการน้อย HI เด็ก ทั้งนี้ ในส่วนของเตียงผู้ป่วยนั้นจากประสบการณ์สามารถปรับเตียงของผู้ป่วยทั่วไปมารองรับหากผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้นได้ รวมถึงวางแผนเปิดโฮเทล ไอโซเลชั่น บางส่วนเพื่อกันเตียงไว้ให้ผู้ที่ต้องการการักษามากที่สุด

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้การติดเชื้อจากการตรวจ PCT + ATK มีการติดเชื้อไปถึง 3.2 หมื่นราย ก็มีการพูดคุยกันในกรมต่างๆ มีการเปิด UCEP PLUS สำหรับผู้ป่วยอาการสีเหลือง สีแดง ให้เข้าสู่ระบบการรักษา นอกจากนี้ในส่วนของผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ แต่มีโรคร่วมอื่นๆ ที่อยู่ในระยะไม่สามารถคุมโรคได้ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาใน รพ.ได้เช่นกัน เช่น ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการของโรคโควิดออกมาเลย แต่เป็นโรคกระเพาะ มีเลือดออกในกระเพาะ ก็จะให้นอนเตียงโควิดได้ เป็นต้น  

“ตอนนี้เราจะว่ามีการติดต่อเข้าระบบ 1330 แล้ว เจ้าหน้าที่ประสานและเตรียมที่จะเข้าดูแลในระบบ HI แล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ป่วยอยากจะเข้าไปฮอสพิเทลแทน ต้องขอย้ำว่าการรักษาเน้นรักษาที่บ้านเป็นหลัก ถ้าไม่สะดวกดูแลที่บ้านก็ยังมีการดูแลในชุมชน (CI) ซึ่งย้ำว่าทั้ง HI/CI คุณภาพ มาตรฐานการดูแลทางการแพทย์ไม่แตกต่างจากฮอสพิเทล อาจจะแตกต่างกันในเรื่องของความสบาย แต่ระยะนี้จะเอาความสบายเป็นที่ตั้งไม่ได้ ต้องเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง ถ้าเราร่วมมือกันเราก็จะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน” นพ.สมศักดิ์กล่าวและว่า สำหรับเด็กติดเชื้อจะมีหมอเด็กเป็นผู้ประเมิน ซึ่งอาจจะต้องมีการเปิดก้องเพื่อดูอาการ และในการติดตามอาการบางครั้งก็ให้ผู้ปกครองอัดคลิปส่งให้หมอเพื่อดูอาการได้.