เมื่อวันที่ 11 ก.พ. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเด็กไทยเกิดน้อย ส่วนหนึ่งมาจากคนอยากเป็นโสด ไม่อยากมีลูก หรือพร้อมมีลูกเมื่ออายุมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก ว่า เหตุผลที่ปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง ต้องยอมรับว่า 1.การเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นว่ากลุ่มผู้หญิงอยู่ในระบบการศึกษาจนอายุมากขึ้น ชะลอการมีครอบครัวและชะลอการมีบุตร 2.ความคาดหวังต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่และความคาดหวังต่อคุณภาพของลูก ต้องการมีลูกเมื่อพร้อม ตั้งมาตรฐานความพร้อมสูง กว่าจะทำได้ถึงมาตรฐาน ความสามารถในการมีบุตรก็อาจถดถอยลง อีกทั้งความเครียดยังส่งผลกระทบต่อการการเจริญพันธุ์ด้วย 3.กลุ่มท้องไม่พร้อมที่มีทางเลือกมากก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การเกิดลดลง รวมถึงกระแสคนอยู่เป็นโสดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสสังคมโลกที่มีแนวโน้มการคำถึงถึงความสุขทางวัตถุมากกว่าความสุขทางใจ เพราะจับต้องได้ง่ายกว่า เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่าความเป็นครอบครัว 

พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า มีการวิเคราะห์โจทย์ความกังวลใจของพ่อแม่ที่มีคุณภาพ มีทั้งการเลี้ยงดู การเป็นภาระ ดังนั้น ถ้ามีกลไกทางสังคมที่สนับสนุนการเลี้ยงดูที่ดีให้พ่อแม่ได้ เช่น คนห่วงกังวลเรื่องการทำงาน ก็มีสถานดูแลเด็กที่มีคุณภาพ ไม่ต้องแย่งกันเข้าหรือใช้เงินมากเพื่อซื้อพื้นที่ดี ๆ ให้ลูก หรือเข้าโรงเรียนใช้เงินเยอะมาก การแข่งขันสูง ถ้าระบบการศึกษากระจายตัวเด็กเข้าถึงมากขึ้น ไม่เหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพ พ่อแม่ทุกคนมั่นใจว่ามีลูกจะมีโรงเรียนดี ๆ รออยู่ โดยไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากมาย ก็จะสบายใจที่จะมีลูกมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างทางสังคมหลายเรื่องที่สามารถปรับปรุงให้พ่อแม่มีความพร้อมและมีความสุขที่จะมีลูก จะได้ไม่มีประชากรน้อยเกินไปในอนาคต

เมื่อถามว่าต้องมีระบบให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนให้คนหันกลับมามีลูกหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ในแง่มุมสุขภาพจิตมีบทบาทในหลายระดับ ทั้งระดับบุคคลและครอบครัว ถ้าเราทำให้ประชาชนเข้าใจคุณค่าของครอบครัวที่สมบูรณ์ คือ การมีลูกปริมาณที่เหมาะสมและคุณภาพที่ดี ถ้างานสุขภาพจิตสามารถให้ข้อมูลให้ข้อแนะนำที่ดีตรงนี้ได้ ก็จะช่วยในระดับบุคคลได้ แต่ระดับมหภาคต้องยอมรับความจริงว่า การคลายความเครียดของสังคม การช่วยให้ประชาชนอยู่บนพื้นฐานความคาดหวังที่พอเหมาะพอควรจนไม่เลยเถิด กลายเป็นความเครียดต่อการมีชีวิตครอบครัว หรือมีความเครียดต่อการเลี้ยงดูเด็ก ก็จะเป็นอีกส่วนที่กรมสุขภาพจิตจะทำหน้าที่ได้   

พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้หากมีลูกเมื่ออายุมาก ลูกเสี่ยงมีภาวะกระดูกอ่อน ดาวน์ซินโดรม หรือโรคอื่น ๆ อีกเยอะ แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นก็ยังเจริญพันธุ์ได้ในอายุสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เอาชนะปัญหาหลายอย่างได้ แต่ถ้ามีลูกเล็กตอนอายุเยอะ ก็อาจจะส่งผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดู พ่อแม่อาจไม่รู้สึกสนุกหรือตื่นเต้นกับการเติบโตของเด็ก เกิดความล้า ไม่คุ้นชิน รู้สึกแปลกแยก จึงอยากให้พ่อแม่ที่อยู่วัยเจริญพันธุ์ที่เหมาะสมและผู้ใหญ่ตอนต้น พิจารณาการสร้างครอบครัวและมีลูก จะราบรื่นกว่าและลงตัวกว่าไปใช้บริการคลินิกผู้มีบุตรยากเยอะมาก.