เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION ที่ห้องแกลเลอรี 5 ชั้น 1 หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยนายอิททธิพล กล่าวว่า วธ.ได้ดำเนินการโครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product of Thailand : CCPOT) ที่มีเป้าหมายในการยกระดับสินค้าและบริการของชุมชนในภาพลักษณ์ใหม่ ให้เป็นที่สนใจของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เน้นการใช้ทุนชุมชนที่มีอยู่ในท้องถิ่นบวกกับความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “สร้างความโดดเด่นและแตกต่าง” โดยแบ่งผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน หรือ Community Cultural Product of Thailand : CCPOT ระดับเอก (สินค้าระดับพรีเมียม) และระดับโท (สินค้าทั่วไป) 2.ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามากจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือ Intangible Cultural Heritage Art Made Product : ICHAMP ระดับเพชร (สินค้าระดับพรีเมียม) และระดับทอง (สินค้าทั่วไป) รวมทั้งสิ้นจำนวนกว่า 5,000 รายการ อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเสื้อผ้า เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ งานฝีมือ งานจักสาน ของที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งนับเป็นการพลิกโฉมผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย อีกทั้งยังช่วยพลิกฟื้นชุมชน ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม ให้กลับมามีรายได้ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 โดยจะมีการจัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION วันที่ 16-20 ก.พ. ใช้พื้นที่ 2 โซนของศูนย์การค้าสยามพารากอน คือ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และ พาร์ค พารากอน ชั้น M

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังสร้างประสบการณ์รับชมงานแสดงสินค้าทางเลือกใหม่ในรูปแบบไฮบริด (Hybrid) ที่ผสมผสานกันระหว่างการจัดงานในสถานที่จริง (on-site) และออนไลน์ (online) เปิดโอกาสให้กลุ่ม ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่ายสินค้าและนักธุรกิจจากต่างประเทศ ได้มีโอกาสเข้าชมงานแสดงสินค้าเสมือนจริงในรูปแบบ Online Virtual Exhibition และสามารถเจรจาจับคู่ธุรกิจสร้างมูลค่าทางการค้าให้เกิดขึ้น คาดว่าจะเกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจในงานได้ไม่น้อยกว่า 200 คู่ และสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้ ทั้งนี้สำหรับผลิตภัณฑ์ ICHAMP ระดับเพชร ที่พัฒนามากจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่น่าสนใจที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย

“เก้าอี้เงินแสนตอก” ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อต่อยอดความเชี่ยวชาญในการตอกดุนลายแผ่นเงินให้เกิดลวดลายของชุมชนวัดศรีสุพรรณ ย่านวัวลาย จ.เชียงใหม่ ในบริบทที่แตกต่างภายใต้ทักษะเดิม คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งประยุกต์การวางโครงสร้างการตอกลายแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ร่วมกับลวดลายดั้งเดิมของชุมชน เกิดเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเอกชิ้นเดียวในโลก

“ช็อคโกแลททุเรียนนนท์” โดย The Chocolate Factory ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม สานต่อมรดกวัฒนธรรมของชาติ “ทุเรียนนนท์” ให้เป็นผลิตภัณฑ์ “ช็อกโกแลตทุเรียนนท์” โดยการผสาน ช็อกโกแลตเข้ากับทุเรียนระดับพรีเมียม

“โนรา ราตรี” โนรา เป็นศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้ การออกแบบชุด “โนรา ราตรี” เพื่อสื่อถึงความงดงาม ดังประกายระยับของแสงดาวบนฟ้า อีกทั้ง แสงตะวันที่สาดสะท้อนบนผิวน้ำทะเลใส โครงชุดทำจากผ้าใยยืดทอมือ เพื่อสร้างความรู้สึกที่สวมใส่แล้วสบายตัว รูปทรงรัดตรึง แต่กลับเพิ่มลูกเล่นด้วยมวลผ้ากองย่นปลายแขน

“เสื้อคลุมมวยไทย วินเทอร์ วินเนอร์” ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนได้สาน ต่อมรดกมวยไทยอย่างยั่งยืนด้วย Collection “WINTER WINNER” ที่ออกแบบพัฒนาจากมรดกวัฒนธรรมมวยไทย ใช้วัสดุขนสัตว์เทียมอบอุ่น สำหรับผู้ชอบกีฬามวยไทยในเมืองหนาว เข้ากับบริบทการเป็นอยู่ของกลุ่มเป้าหมายต่างประเทศ ในโทนสีพร้อมลูกเล่นอัตลักษณ์แม่ไม้มวยไทย

“ฐานเทียนอโรมาอุบลราชธานีศรีวนาลัย” เป็นการประยุกต์เทคนิคทำเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ โดยนำขี้ผึ้งเหลวมาเทใส่พิมพ์ที่มีลวดลายโบราณตามแบบฉบับ ลายอุบลราชธานีศรีวนาลัย จากนั้นนำมาแกะเพื่อให้เกิดความอ่อนช้อย แล้วนำไปติดบนผิวไม้ทรงกระบอก ด้านบนฝังภาชนะทองเหลือง หัตถกรรมจากภูมิปัญญา ท้องถิ่นบ้านปะอาว จ.อุบลราชธานี “ฐานเทียนอโรมาอุบลราชธานีศรีวนาลัย” เป็นผลลัพธ์ของการรวมกันของงานช่างฝีมือติดพิมพ์เทียนและงานหัตถกรรมทองเหลือง ทำให้เกิดการใช้งานในชีวิตประจำวัน ได้อย่างหลากหลาย เช่น ตกแต่งภายในรีสอร์ทหรือสปา เป็นต้น