นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาสที่ 4 ของ ปี 64 และตัวชี้วัดด้านแรงงานที่สำคัญ พบว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 64 ของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ภายหลังจากมาตรการด้านโควิดของรัฐบาล เริ่มผ่อนคลาย แรงงานมีงานทำมากขึ้น และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับเข้ามาสู่ภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิต  โดยมีอัตราการมีงานทำอยู่ 66.3% ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคการบริการและการค้า  45.1% รองลงมาคือ ภาคเกษตรกรรม 33.2%  และภาคการผลิต 21.6% ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์การว่างงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ผลสำรวจพบว่า ผู้ว่างงานลดลงจาก 8.7 แสนคนในไตรมาสที่ 3 เหลือ 6.3 แสนคนในไตรมาสที่ 4 เป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ รวมถึงการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศในพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสำคัญๆ อย่างไรก็ตามปัญหาการว่างงานระยะยาว ยังต้องจับตามอง โดยปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือ การว่างงานที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนระดับปัญหาการว่างงานของประชากร โดยในไตรมาส 4 อัตราการว่างงานระยะยาวในสัดส่วนที่สูง คือ  0.4% ในขณะที่ไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 0.2%

นางปิยนุช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ข้อมูลที่สำรวจยังชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่การว่างงานระยะยาวเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี รองลงมา คือ ผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี ขณะเกี่ยวกันผู้เสมือนว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ที่มีงานทำภาคเกษตรกรรม 0-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกลุ่มผู้ที่มีงานทำนอกภาคการเกษตรกรรม 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเรียกว่า ผู้เสมือนว่างงาน โดยจากผลสำรวจในไตรมาสที่ 4 ปี 64 มีจำนวน 2.6 ล้านคน เพิ่มจากไตรมาสที่ 3 ปี 64  ที่มี 2.6 แสนคน ส่วนใหญ่เป็น ผู้ที่มีอาชีพในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยง ที่จะเป็นผู้ว่างงานในอนาคตได้