นายไพฑูรย์ รื่นสุข เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าแล้งนี้เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เตรียมมาตรการส่งเสริมการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรทุกพื้นที่ โดยวางแผนการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ สนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงและพอเพียง รวมถึงน้ำอุปโภค – บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร การอุตสาหกรรม และการเพาะปลูกพืชต้นฤดูฝนในปีถัดไป เนื่องจากในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา สภาพน้ำต้นทุนมีจํากัด ดังนั้นในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงสนับสนุนน้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้ ระหว่างพ.ย.64 – เม.ย.65 เพื่อการอุปโภค – บริโภค และรักษาระบบนิเวศและพืชต่อเนื่อง

ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้วางแผนเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่างที่รองรับน้ำหลากในฤดูฝนปี 2564 ที่ผ่านมา บนพื้นที่ 1.20 ล้านไร่ และพื้นที่ที่เพาะปลูกเป็นประจํา ซึ่งใช้น้ำจากแหล่งน้ำของตนเอง หรือแหล่งน้ำข้างเคียง ประมาณ 1.61 ล้านไร่ รวม 2.81 ล้านไร่ ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเกษตรเพาะปลูกพืชช่วงหน้าแล้งที่กําหนดไว้ ซึ่งจะให้เกษตรกรรับทราบข้อมูลข่าวสารด้านสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน แนวโน้มความต้องการของตลาด ราคา และแหล่งรับซื้อพืชหน้าแล้งเป็นต้น จึงขอเชิญชวนเกษตรกรให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ภายใต้โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (หลังนา) ปี 65 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปี 65