นอกจากล็อกดาวน์ประคองสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 อีกมาตรการที่เริ่มปรับเปลี่ยนและน่าจะเป็นแนวทางระยะยาวคือ “ระบบรักษา” ท่ามกลางภาวะวิกฤติจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นนับหมื่นคนต่อวัน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตรายวันทะลุร้อย จากเดิมผู้ติดเชื้อทั้งหมดสามารถเข้าสู่ระบบรักษาในสถานพยาบาลทั้ง รพ.สนาม รพ.หลัก แต่จากนี้ “ปรับใหม่” เน้นสอดรับสภาพความเป็นจริงที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นกลุ่มไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย เรียกกันว่า “กลุ่มสีเขียว” ให้แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือ แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) เป็นหลัก
ทีมข่าวชุมชนเมือง มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.เกษม เวชสุทธานนท์ ผอ.สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำความเข้าใจพร้อมคลายข้อกังวลถึงการปรับระบบรักษาที่แตกต่างจากเคยปฏิบัติกันมา โดยชี้แจงว่า การกักตัวที่บ้านไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยเป็นประเทศแรก ในต่างประเทศช่วงระบาดเริ่มแรกก็ใช้แนวทางกักตัวที่บ้านเป็นหลัก เพราะธรรมชาติของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียว ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย ขณะเดียวกันต่างประเทศคาดการณ์การติดเชื้อที่จะมีจำนวนมากขึ้น จึงไม่รับกลุ่มเหล่านี้เข้ารักษาใน รพ. ทำให้เมื่อระบาดหนักจริงๆ คนไข้อาการปานกลางถึงหนักจึงเข้าสู่ระบบรักษาได้ง่าย
ต่างจากไทยที่นำผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มเข้าระบบทั้งหมด เมื่อต้องเผชิญระบาดหนักผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละเกือบหมื่นคน จึงเกิดปัญหาคนไข้หนักไม่มีเตียงรักษา เพราะคนไข้สีเขียว สีเหลืองยังครองเตียงอยู่ เรื่องนี้ต่างประเทศเตรียมการไว้ส่วนไทยแค่เตรียมช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและปรับตามสถานการณ์โรค
สำหรับการกักตัวที่บ้านตามระบบจะมีเกณฑ์พิจารณาเน้นใช้กับคนไข้อาการน้อย และ “เสี่ยงรุนแรงน้อย” ด้วยเท่านั้น เช่น อายุน้อยกว่า 60 ปี สภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะอ้วนมากหรือโรคร่วมอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการป่วยหนักได้ อาทิ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และต้องพร้อมกักตัวที่บ้านอย่างเคร่งครัด
ขณะเดียวกันต้องพิจารณาความพร้อมสถานที่ เพราะยอมรับว่าบางพื้นที่ไม่เหมาะกักตัวที่บ้าน เช่น บ้านที่มีผู้อาศัยหลายคน ยกตัวอย่าง พื้นที่คลองเตยกักตัวในบ้านลำบาก แต่ก็ยังมีแนวทางกักตัวในชุมชนรองรับ ทั้งนี้ การกักตัวที่บ้านกับการเข้าระบบ รพ.สนาม ลักษณะโดยรวมแทบไม่แตกต่างเพราะจะมีทีมแพทย์รับผิดชอบติดตามอาการทุกวัน พร้อมมอบอุปกรณ์จำเป็นอย่างเครื่องวัดค่าออกซิเจน ยาฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ขึ้นอยู่กับอาการตามดุลพินิจแพทย์ มีการจัดส่งอาหารครบ 3 มื้อ หากพบว่ามีอาการหนักขึ้นจึงเข้าระบบรักษาใน รพ.
เมื่อถามถึงข้อกังวลการใช้วิธีกักตัวที่บ้าน นพ.เกษม มองว่า ต่างประเทศทำได้ในไทยบางพื้นที่ก็ทำได้ เช่น การพักอยู่คอนโดฯ ที่ใช้ห้องเพียงคนเดียวจะจัดการได้ง่ายและสะดวกกว่าพักที่ รพ.สนาม เพียงแต่ต้องแจ้งญาติ หรือคอนโดฯ ให้ทราบเพื่อสนับสนุนอาหารหรือสิ่งของจำเป็น ที่สำคัญผู้ป่วยกักตัวที่บ้านต้องมีวินัยเคร่งครัด ห้ามออกพบปะ หรือห้ามคนเยี่ยมเด็ดขาด ซึ่งจุดนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินร่วมด้วยว่าใครทำได้ หรือไม่ได้ มีข้อจำกัดหรือไม่
ย้ำว่าในสถานการณ์ที่เตียงไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยทุกคนเข้าระบบ ก็ต้องใช้วิธีนี้ในการแบ่งเบา ให้แพทย์ดูแลใกล้ชิดกลุ่มป่วยหนัก กลุ่มป่วยไม่หนักก็จัดวิธีดูแลที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นระบบสาธารณสุขอาจล่มได้
ในสถานการณ์แพร่ระบาดที่ดูเหมือนแย่ลง ภาพรวมผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากขึ้นเพราะการกลายพันธุ์ซึ่งแม้จะฉีดวัคซีนแต่ด้วยประสิทธิภาพที่อาจลดลงไป นอกจากการกักตัวที่บ้าน มาตรการให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เพื่อค้นหาเชื้อเองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างประเทศจะมีไว้ประจำบ้าน เหมาะสำหรับผู้มีความเสี่ยง ผู้ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านสามารถตรวจได้บ่อยๆ หากรู้เร็วก็แยกกักตัวได้เร็ว ลดโอกาสกระจายเชื้อสู่คนในบ้าน ถือเป็นตัวช่วยควบคุมโรคอีกทางหนึ่ง
ท้ายนี้ ย้ำว่าการกักตัวที่บ้านควรรีบทำให้เยอะ หากที่บ้านมีความพร้อม คนไม่หนาแน่น มีห้องแยก สามารถใช้เครื่องสื่อสาร ส่งข้อมูลได้ อยู่ในบ้านกับ รพ.สนาม แทบไม่ต่าง พร้อมเน้นย้ำคู่มือการกักตัวอยู่บ้านหากปฏิบัติเคร่งครัดก็สามารถดูแลตัวเองให้ปลอดภัยได้.