จากกรณีมีรายงานข่าวว่า แหล่งข่าวจากแพทยสภาระบุถึงความคืบหน้าการนำเข้า “วัคซีนไฟเซอร์” ว่าตรวจสอบเอกสารสัญญาระหว่างกันและลงนามเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว เตรียมดำเนินการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการในอีก 1-2 วันข้างหน้า โดยวัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามาในประเทศไทยภายในเดือน ก.ค.นี้ 5 ล้านโดส และจะทยอยเข้ามาทุกๆ สัปดาห์ จนครบจำนวน 40 ล้านโด๊ส นั้น
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา อดีตนายกแพทยสภา เปิดเผยว่า แพทยสภาไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการนำเข้าวัคซีน เพราะไม่ได้เป็นหน่วยงาน 1 ใน 5 ที่ถูกระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และการจัดหาวัคซีนนั้น ไม่ใช่พันธกิจของแพทยสภา และแพทยภาไม่ใช่หน่วยงานรัฐเป็นเพียงนิติบุคคล หน่วยงานอิสระ ที่ได้รับงบประมาณจากรัฐเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในดีลนำเข้าวัคซีนดังกล่าว
ด้าน นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เรื่องนี้นายกแพทย์สภา เลขาธิการแพทยสภา ไม่มีใครทราบเรื่องของการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชนรายนี้ ซึ่งตามกฎหมายแพทยสภาก็ไม่ได้มีอำนาจในการนำเข้าวัคซีนแต่อย่างใด
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่ทราบว่าดีลของเอกชนรายนี้เป็นอย่างไร แต่ทราบว่านโยบายการนำเข้าวัคซีนทางเลือกยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงคือ วัคซีนทางเลือกต้องไม่ซ้ำกับวัคซีนที่ภาครัฐจัดหา ยกเว้นว่าทางบริษัทไฟเซอร์จะเปลี่ยนนโยบายว่าจะขายตรงให้เอกชนได้ อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปทางบริษัทไฟเซอร์ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (18 ก.ค.) ก็ได้รับคำตอบว่า ทางบริษัทยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระยะนี้ ยังเป็นการขายผ่านรัฐเท่านั้น และจากการตรวจสอบผู้นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศได้ก็ยังมีเพียงเจ้าเดียวคือ บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย ยังไม่มีการเพิ่มรายชื่อผู้นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์รายอื่น
ส่วน นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ล็อตดังกล่าว กล่าวว่า ตนไม่สามารถให้ข้อมูลใดได้ แต่เอกสารต่างๆ ดำเนินการลงนามเรียบร้อยแล้ว อยู่ที่ว่าองค์กรที่สั่งซื้อจะออกมาประกาศเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าภายใน 1-2 วันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว จะเป็นผู้ออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจนเอง
ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ระบุเรื่อง เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ได้ระบุถึงการอนุญาตให้ 5 หน่วยงานหลักมีสิทธิในการนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย 1) กรมควบคุมโรค 2) องค์การเภสัชกรรม 3) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 4) สภากาชาดไทย และ 5) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือ หน่วยงานอื่นของรัฐ