เมื่อวันที่18 ก.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เเถลงออนไลน์ถึงกรณีงบประมาณของกระทรวงกลาโหมจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในวันที่19 ก.ค.นี้ โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือการจัดซื้อเรือดำน้ำ เเละอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ซึ่งจะเป็นการประชุมออนไลน์ โดยในส่วนงบของกระทรวงกลาโหม ในการของบประมาณ 22,500 ล้านบาท ในการซื้อเรือดำน้ำ เป็นจำนวน 2 ลำ ซึ่งลำนี้ เป็น ลำที่ 2 และ 3 ส่วนลำเเรก ซื้อไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ทางกองทัพเรือเเจ้งความจำเป็นว่าจะต้องซื้อเพิ่มอีก 2 ลำ เพื่อจะได้มีการซ่อมบำรุงเเละใช้
“ในเรื่องของสามัญสำนึก คิดว่าคงไม่จำเป็นต้องพูดกันมาก มีทั้งสังคม ทั้งสื่อมวลชนที่เปรียบเทียบว่า เงินจำนวน 22,500 ล้านบาท ในยามที่ประเทศชาติวิกฤตขนาดนี้ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ตายแบบใบไม้ร่วงมันเหมาะสมหรือไม่ ที่จะนำไปซื้อเรือดำน้ำ เงินจำนวน 22,500 ล้านบาท ทำอะไรได้บ้าง เราสามารถซื้อวัคซีนไฟเซอร์ ได้ 35 ล้านโดส ซื้อชุด PPE ได้ 150 ล้านชุด ให้กับบุคลากรทางเเพทย์และอาสาสมัครที่ช่วยเหลือประชาชนในยามหาเตียงไม่ได้ และซื้อชุดตรวจอาติเจน ( rapid antigen test) ได้จำนวน 60 กว่าล้านชุดให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทย นี่คือราคาที่เราต้องจ่าย เมื่อเปรียบเทียบกับการไปซื้อเรือดำน้ำมาจอดไว้” พิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า โดยฝ่ายกองทัพเรือได้ชี้เเจงว่า จะซื้อเรือดำน้ำจากบริษัท China Shipbuilding & Offshore International ของจีน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยไม่จ่ายทั้งหมด 22,500 ล้านบาท แต่จะจ่ายแค่งวดเเเรกเพียง 15 เปอร์เซนต์ หรือ 1 ใน 3 ของมูลค่านี้ ซึ่งคำนวณเเล้ว ประมาณ 1,125 ล้านบาท ตนคิดว่าคำเเถลงของกองทัพไม่ฟังไม่ขึ้น เพราะสามารถนำเงิน 1,125 ล้านบาท จัดลำดับความสำคัญแก้ไขปัญหาของประเทศในขณะนี้ ทั้งสภาวะทางเศรษฐกิจ สภาวะสังคม จึงไม่อนุญาตให้กองทัพนำภาษีของพี่น้องประชาชน ก้าวขาเข้าไปข้างหนึ่งเพื่อจ่ายเงินก้อนเเรกตามที่กองทัพเรือได้เเถลงไปล่วงหน้าได้
นายพิธา ยังชี้แจงต่อว่า ในช่วงเวลานี้ของปีที่เเล้วก็ได้มีการต่อสู้ถึงเรื่องนี้ในคณะอนุกรรมาธิการงบประมาณ มีการขอให้ถอนวาระในการซื้อเรือดำน้ำออกไป โหวตออกมาได้ 4 ต่อ 4 ประธานจึงออกเสียงว่าจะจัดซื้อ แต่สุดท้ายก็ต้องถอยไปเองจากเสียงของพี่น้องประชาชนกดดัน และหากยังจำกันได้นาย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้บุกไปยังที่เเถลงข่าวของกองทัพ เพื่อพูดคุยสอบถามถึงความจำเป็นที่จะต้องซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว เเละหลังจากนั้นยังมีนักวิชาการมาให้ความเห็นถึงความไม่เหมาะสมในสภาพภูมิประเทศของอ่าวไทยในการซื้อเรือดำน้ำชนิดนี้จากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่เเล้วกองทัพได้ถอนออกไป ทำให้ปีนี้ได้นำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจดีว่าทางกองทัพเรือ ได้วิเคราะห์ไว้หลาย Scenario ที่ประเทศจะจำเป็นต้องใช้เรือดำน้ำ แต่ในประวัติศาสตร์ของทั้งโลก ครั้งสุดท้ายที่เรือดำน้ำสามารถใช้จมเรือของข้าศึกได้สำเร็จคือเมื่อ 40 ปีที่แล้วในสงคราม Falklands นี่คือตัวอย่างจากทั้งโลก ปีที่แล้วกองทัพเรือชี้เเจงว่า ไม่ได้เอาไปไว้ยิงใคร แต่ใช้เพื่อแสดงแสนยานุภาพ และเพื่อความมั่นคงของประเทศ กองทัพเรือยังได้ชี้แจงว่าประเทศไทยจะต้องซื้อเรือดำน้ำให้ทันปี 2572 เพื่อให้ประเทศมีอำนาจต่อรองเมื่อ MOU ของพื้นที่พัฒนาร่วมในอ่าวไทยสิ้นสุดลงในปี 2572 แต่ก็เป็นคำชี้แจงที่ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เนื่องจากจากการประชุมคณะกรรมการองค์กรร่วม ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 115 วันที่ 4 ก.ย.59 ได้ยืนยันแล้วว่า MOU จะใช้ต่อไปหลังปี 2572 และคณะรัฐมนตรีก็ได้รับทราบและยืนยันผลบังคับใช้แล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เม.ย.60
“ คำชี้เเจงของกองทัพในปีนี้ เเละคำชี้เเจงปีที่เเล้ว ที่จะต้องการซื้อเรือดำน้ำเพื่อเเสดงเเสนยานุภาพของกองทัพ กล่าวว่าประเทศไทยต้องมีเรือดำน้ำ 3 ลำ ให้ทันปี 2572 เพื่อให้มีอำนาจต่อรอง MOU ของพื้นที่พัฒนาร่วมอ่าวไทยฟังไม่ขึ้น เรายังไม่มีความจำเป็นในการซื้อเรือกองทัพในตอนนี้ท่ามกลางวิกฤติที่พี่น้องประชาชน กำลังเผชิญอยู่” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวว่า ถึงเวลากองทัพต้องปรับเเนวคิด เพื่อรองรับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ในการสร้างความกดดันให้กับศัตรูโดยไม่ใช้อาวุธหนัก ต้องคิดใหม่จากเดิมความมั่นคงเป็นเรื่องของกลาโหม ความมั่นคงทางทหาร ต่อไปจะต้องเป็นเรื่องของสาธารณสุข สิ่งเเวดล้อม เเละความปลอดภัยทางไซเบอร์ ในปัจจุบันเราไม่ได้เเข่งกันว่าใครมีเรือดำน้ำมากกว่ากัน เเต่เราเเข่งกันที่ใครสามารถผลิตวัคซีนได้ ใครที่เป็นผู้บริจาควัคซีน ใครที่เป็นรับวัคซีน เรื่องของวัคซีนการทูต อุปกรณ์ทางการเเพทย์ การสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับระบบสาธารณสุข นี่คือนิยามความท้าทายใหม่ที่เริ่มตั้งเเต่ปีที่เเล้ว คิดว่าผู้บังคับบัญชาของกองทัพควรเข้าใจให้ตรงกัน เพราะท่านก็คงได้รับผลกระทบเช่นเดียวไม่ต่างกับประชาชน
“งบประมาณของบุคลากร กับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยในรูปแบบใหม่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงกันไม่ได้ ยิ่งท่านมีบุคลกรในกองทัพมาก งบประมาณที่เทอะทะจะไปทับในส่วนที่ต้องพัฒนาอาวุธที่ทันสมัย มันจะเกิดปัญหา ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพจริงจังกันเสียที เราต้องมีการจัดทัพองค์กร เเละรีดไขมันในส่วนงบประมาณที่ไม่จำเป็นออก เช่น องค์กรที่ซ้ำซ้อน หากดูตัวอย่างของการปฏิรูปกองทัพของประเทศที่มีแสนยานุภาพอย่างสหรัฐอเมริกา มีการปรับเปลี่ยนลดองค์กรซ้ำซ้อน ลดในเรื่องของบุคลากร ทั้งในส่วนของทหารที่เอาไว้เป็นกำลังพล เเละทหารเอาไว้ที่พัฒนา เพื่อให้การเคลื่อนไหวของกองทัพง่ายขึ้น ประหยัดภาษีพี่น้องประชาชน เป็นปฏิรูปกองทัพที่ทันสมัย ใช้อาวุธที่ทันสมัย เอางบที่ไม่จำเป็นไปให้หน่วยงานของรัฐบาลในการแก้ไขวิกฤติที่จำเป็น นี่เป็นทางออกของประเทศไทยที่มีรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร อยู่ร่วมกันได้” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวว่า ขอวิงวอนไปถึงผู้เเทนกองทัพขอให้ถอนวาระนี้ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมาธิการงบประมาณในปีนี้ หากไม่ถอนและยังดื้อรั้นที่จะใช้ภาษีของพี่น้องประชาชน บนซากศพของพี่น้องประชาชน ในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ตนเเละพรรคก้าวไกลพร้อมที่จะอภิปรายสู้ในเรื่องเหตุเเละผล เเละขอให้ผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการงบประมาณทุกท่าน มาร่วมกับกรรมาธิการงบประมาณของพรรคก้าวไกลช่วยกันลงคะแนนเพื่อคว่ำการจัดซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้.