นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) รวม 3 จังหวัด ในแหล่งน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ 1.แม่น้ำสงคราม ต.ทุ่งฝน อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี 2.แม่น้ำสงคราม ต.คำสะอาด อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และ 3.ลำน้ำแอก ต.หนองค่าย ต.ตลาดไทร อ.ประทาย จ.นครราชสีมา มีรายละเอียดดังนี้ 

สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกฯ แม่น้ำสงคราม ต.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี และ ต.คำสะอาด จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 23 เม.ย.64-ปัจจุบันขุดลอกได้ระยะทาง 2,966 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอก 86,660 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 94.5% โดยใช้เครื่องจักรเป็นรถขุด ขก.5 และรถขุดตักดินเช่า เริ่มขุดลอกตั้งแต่ กม. ที่ 427+500 ถึง กม.ที่ 430+650 ระยะทาง 3,150 เมตร ขุดลอกร่องน้ำ ให้ได้ความกว้าง 20-40 เมตร ขุดลอกระดับก้นร่องลึกประมาณ 155 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณวัสดุขุดลอก 91,666 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินการ 86 วัน  

นายวิทยา กล่าวต่อว่า และหน่วยปฏิบัติงานพื้นที่แห่งใหม่ บริเวณลำน้ำแอก จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 ก.ค.64 ปัจจุบันขุดลอกได้ระยะทาง 199 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอก 3,746 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 4.5% โดยใช้เครื่องจักรเป็นรถขุด ขก.2 และ รถขุดตักดินเช่าเอกชน ขุดลอกตั้งแต่ กม. ที่ 5+300 ถึง กม.ที่ 1+400 ระยะทาง 3,900 เมตร ขุดลอกร่องน้ำให้ได้ความกว้าง 20-30 เมตร ขุดลอกระดับก้นร่องลึกประมาณ 139 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณวัสดุขุดลอก 83,100 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินการ 82 วัน หรือสิ้นสุดการดำเนินงานวันที่ 29 ก.ย.64 โดยขุดลอกเพื่อเพิ่มความกว้างและความลึกของร่องน้ำ เพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ แก้ไขปัญหากระแสน้ำกัดเซาะตลิ่ง รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง 

นอกจากนี้สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 ได้มีแผนดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ ในพื้นที่ภาคอีสานในพื้นที่ 3 จังหวัด แหล่งน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ 1.แม่น้ำสงคราม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร 2.ลำบางบอน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม 3.ลำน้ำแอก อ.ประทาย จ.นครราชสีมา และ 4.ลำสะแทด อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา ขณะนี้การปฏิบัติงานถึงเดือน มิ.ย.64 ขุดลอกตามแผนได้ปริมาณ 768,466 ลูกบาศก์เมตร จากแผน 1,094,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นผลงาน 70.24% 

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ซึ่งกรมเจ้าท่าได้เร่งเดินหน้าภารกิจขุดลอกอย่างต่อเนื่องให้แล้วเสร็จตามแผนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำให้เป็น แหล่งน้ำของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป เพื่อบูรณาการเตรียมความพร้อมในเชิงป้องกันเพื่อรับสถานการณ์ช่วงฤดูฝน สอดคล้องกับความต้องการในการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร และการรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำ ตามนโยบายรัฐบาลและมาตรการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และกระทรวงคมนาคม