เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ไปเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ  เรื่อง “มหาวิทยาลัยสีเขียว” โดยมี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นายจักรชัย ชุ่มจิตต์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และอาจารย์ เข้าร่วมรับฟังการบรยายและร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ ดร.ประสาท หลักศิลา ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

นายวราวุธ กล่าวว่า สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัย ถือเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความใส่ใจและตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ Green University ที่ดำเนินการแพร่หลายในขณะนี้ ซึ่งการดำเนินโครงการ Green University จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่ช่วยทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 ได้ ภายใต้แนวคิดของ Green University ที่มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน 3 ประการ 

“ประการที่หนึ่ง คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ Economic growth มุ่งเน้นการเกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ และต่อเนื่องในระยะยาว  ประการที่สอง ความครอบคลุมทางสังคม หรือ Social inclusion ให้ความสำคัญด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน  และประการที่สาม การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือEnvironmental  protection ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นสำคัญ” 

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า “การมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้ประสบผลสำเร็จ การขับเคลื่อนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ถือเป็นพลเมืองรุ่นต่อไป ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ”

ด้าน นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อม และให้การหนุนเสริมการทำงานของเยาวชนผ่านทางชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือชมรมด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัย ในรูปแบบโครงการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยที่ร่วมขับเคลื่อนจำนวน 65 มหาวิทยาลัย จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ขับเคลื่อนและส่งเสริมนโยบาย Green University ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย

“ภารกิจของชาว Green Youth คือ การดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเรียนรู้ ซึมซับ และปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต โดยเน้นการลงมือปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยและขยายผลสู่ชุมชน ใน 4 แนวคิดหลัก ได้แก่ การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย, การจัดการของเสียภายในมหาวิทยาลัย, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัย และการจัดการพลังงานภายในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้นำเกณฑ์ประเมินโครงการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม มาใช้ประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม Green Youth ที่มีผลงานชัดเจน เป็นรูปธรรม ได้ผลลัพธ์ของโครงการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาขยายผลหรือเผยแพร่สู่สาธารณะชนได้ เข้ารับรางวัลเชิดชูเกียรติในแต่ละปีอีกด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้าย