โครงการสนับสนุนการสื่อสารงานของภาคีควบคุมยาสูบ (ทีมชวน ช่วย เลิกบุหรี่) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “นวัตกรรมชวน ช่วย เลิก : การพัฒนานวัตกรรมเพื่อหนุนเสริมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด” ผ่านระบบออนไลน์เสมือนจริง (Virtual Meeting) โดยได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบจากจังหวัดต่าง ๆ เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้
นางสาวนิรดา แสนรัตน์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า เป็นการสร้างพื้นที่ให้ภาคีเครือข่ายในระดับจังหวัดและพื้นที่ปฏิบัติการ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นำเสนอประเด็นการพัฒนานวัตกรรม เพื่อหนุนเสริมการทำงานของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด รวมถึงการร่วมวิเคราะห์เสนอแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาลดอัตราการสูบบุหรี่ของประชาชน และยังเป็นการสื่อสารผลงานของภาคีเครือข่ายออกไปสู่สาธารณะ
ขณะที่ นพ.สมยศ ศรีจารนัย กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า เวทีครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับบุคลากรจากทุกภาคส่วนมาช่วยสร้างสังคมที่ใสสะอาด ปลอดจากบุหรี่ ซึ่งการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ถือเป็นการทำงานที่ยาก เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องการปรับพฤติกรรมของมนุษย์ และบุหรี่ก็มีสารทำให้เกิดอาการเสพติดด้วย แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ในหลายจังหวัดก็ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ เช่น จังหวัดร้อยเอ็ดที่ร่วมลงพื้นที่ทำงานกับภาคประชาสังคม จังหวัดนครปฐม ที่สามารถปรับเข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำงานร่วมกับทีม MCATT จนนำมาสู่การเลิกบุหรี่ได้ หรือจังหวัดตรังที่พัฒนานวัตกรรมลูกอมตะลิงปลิงมาใช้เพื่อเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผู้สูบบุหรี่ลงได้ โดยการทำงานในของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดต่าง ๆ นั้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่สามารถหยิบยกภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาช่วยในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ตามบริบทของพื้นที่ได้ พร้อมมองว่า การจัดงานครั้งนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลในระดับจังหวัดได้อีกมาก จนนำมาสู่การขยายพัฒนาและต่อยอดโครงการที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้เกิดงานเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ เชื่อว่า สุดท้ายจะทำให้เกิดประกายความคิดและพลัง ให้เกิดการส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้นให้ประชาชนทุกคนเห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ และนำมาสู่การป้องกันเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ได้มากขึ้นต่อไป
ด้าน นายนรา เทียมคลี หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชาชน ลดลงเหลือร้อยละ 17.4 แม้จะมีทิศทางลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายคือ อุตสาหกรรมยาสูบได้มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามา คือ บุหรี่ไฟฟ้า ที่ทำการตลาดพุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มเยาวชนและสตรี พยายามให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าหรือทดแทนบุหรี่แบบเดิมได้ และยังพบว่ามีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ซึ่งข้อมูลนี้หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่เยาวชน และผู้ปกครองในการสร้างความเข้าใจในเรื่องอันตรายและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าให้มากขึ้น หากไม่มีมาตรการควบคุมเชื่อว่าจะทำให้มีผู้สูบบุหรี่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกัน การโฆษณาและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์ก็มีมากขึ้น โดยพบมากที่สุดในเฟสบุ๊ค ที่มีทั้งโปรโมชั่นลดราคาในโอกาสพิเศษต่าง ๆ หรือนำตัวบุคคลมาแนะนำสินค้า ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นแหล่งขาย สื่อสาร โฆษณา ส่งเสริมกฎหมาย กระจายความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้น การทำให้ประชาชนได้รับทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ส่วนการบังคับใช้กฎหมายก็มีความสำคัญไม่แพ้ประเด็นอื่น เพราะจากการสำรวจพบว่า ยังมีร้านค้าหรือผู้ประกอบการบางแห่ง ที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พุทธศักราช 2560 โดยมีการขายบุหรี่ให้นักเรียน แบ่งขายเป็นมวน โชว์สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ รวมถึงไม่มีใบอนุญาต การเผยแพร่ข้อมูลด้านกฎหมายให้กับผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
การทำงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัดนั้น มีกลไกสำคัญสองส่วน คือ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ซึ่งเป็นการวางนโยบายในระดับประเทศ ลงไปสู่การดำเนินนโยบายในระดับพื้นที่หรือคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด (คผยจ.) ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีคณะกรรมการระดับจังหวัด ทั้งหมด 72 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 94 ของประเทศ และเกิดการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบผ่าน คผยจ. ประมาณร้อยละ 57 ซึ่งการทำงานในระดับจังหวัดที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เพื่อออกเตือนในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกจังหวัด และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยมีจังหวัดที่ดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายร้อยละ 88 เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมากขึ้น
การดำเนินงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่ ได้เริ่มต้นในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีทั้งโรงเรียนเด็กพิเศษ โรงเรียนชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษา พร้อมขยายผลไปยังโรงเรียนสังกัดเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร สถาบันอาชีวศึกษา รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาต่อไปในอนาคต ส่วนการบำบัดพบว่า ร้อยละ 93 ของจังหวัดที่มีโรงพยาบาลประจำจังหวัดและระดับอำเภอ เข้าร่วมโครงการสนับสนุนเข้าถึงระบบบริหารเลิกบุหรี่ และยาเลิกบุหรี่แบบครบวงจร ทำให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการดำเนินงานสร้างพื้นที่ชุมชนปลอดบุหรี่ พบว่าพื้นที่ชุมชนในชนบทเข้าร่วมโครงการและสร้างมาตรการชุมชนชนบทปลอดบุหรี่แล้วกกว่า 2,229 แห่ง ใน 53 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ส่วนในชุมชนเมืองเข้าร่วมโครงการชุมชนปลอดบุหรี่ 187 แห่ง ใน 42 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 54
ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนานวัตกรรมในการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบในอนาคต ได้มองถึงทิศทางการควบคุมยาสูบแบบยุค 4.0 ซึ่งกรมควบคุมโรคจะมีระบบ DDC 4.0 ที่จะมีการเชื่อมโยงทุกข้อมูลให้เข้าถึงกัน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้เกิดการสานพลังจากทุกภาคส่วนในการควบคุมยาสูบ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ดำเนินงานให้เป็นไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ นำเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามาใช้ เช่น โปรแกรมการติดตามผลการดำเนินงานผ่านระบบแอปพลิเคชั่น T-CEP มีการวางระบบเฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนแบบ TAS ได้ปรับเปลี่ยนโปรแกรมคลินิกฟ้าใสเวอร์ชั่น 2 อีกด้วย