นายวิบูลย์ ชูชีพชื่นกมล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า โครงการ Upcycling Upstyling ปี 2 ภายใต้แนวคิด “Home and Living” ด้วยการนำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้งานอีกครั้ง โดยนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งทั้งภายในและภายนอกที่มีความสวยงาม สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้
โครงการนี้เป็นความร่วมมือกับลูกค้า คู่ค้าของ GC ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำของไทย 20 แบรนด์ ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับสากล (Expert of Style) 10 คน ที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาร่วม Upcycling พลาสติกเหลือทิ้งจากโรงงานและจากผู้บริโภคของแต่ละแบรนด์ ด้วยการขี้นรูปโดยโดยผู้ประกอบการพลาสติก 13 ราย ด้วยการนำพลาสติกใช้แล้วกว่า 10 ประเภท มาออกแบบเป็นผลงานแนว Eco-Design จนได้ชิ้นงานทั้งหมด 20 ผลงาน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ Construction Material จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ Outdoor Furniture จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ Indoor Furniture จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ และ Home&Decoration จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำตัวอย่างผลงานบางส่วนมานำเสนอให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ ECO-Design สามารถเพิ่มความมีสไตล์ให้กับชีวิตประจำวันได้ลงอย่างลงตัว
เริ่มต้นด้วยผลงาน CHAIR + DESK from NESCAFÉ sachet ชุดโต๊ะ เก้าอี้นักเรียน จากซองกาแฟของ Nescafe โดยออกแบบให้มีลวดลายที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไม้ เน้นแนวคิด ขนส่งสะดวกประกอบง่าย เพื่อให้โต๊ะและเก้าอี้ชุดนี้เหมาะกับทั้งการเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในบ้านที่ต้องประกอบเอง โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือเสริม และสามารถขนส่งได้ง่ายสะดวก เพื่อนำไปบริจาคเป็นโต๊ะนักเรียนในที่ห่างไกล ออกแบบโดยนายอภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ ดีไซเนอร์ Stu/D/O ARCHITECTS 1 และบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ในฐานะ Converter เป็นผู้พัฒนาให้เม็ดพลาสติกที่ได้มามีคุณสมบัติที่ดีขึ้น จากกระบวนการแยกพลาสติกและฟอยล์ออกมาประสานเป็น plastic resin เหมาะกับการนำไปใช้สำหรับงาน wood plastic composite (WPC) ซึ่งจะมีความคงทน แข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี
ดังนั้นจึงเป็นชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และยังช่วยจัดการกับเศษวัสดุอย่างซองกาแฟของ Nescafe ที่บริโภคอย่างแพร่หลายในสังคม ตอบโจทย์ความมุ่งมั่นของบริษัท เนสเล่ท์ (ไทย) จำกัด ที่เป็น Brand Owner ต้องการสร้างสรรค์สังคมไร้ขยะและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มจากการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้สามารถ Recycle ได้ 100% และจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก เปลี่ยนสไตล์การแต่งบ้านด้วยเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ด้วยผลงาน SHARE to CHAIR ชั้นวางของและเก้าอี้ ผลิตจากพลาสติกห่อบรรจุภัณฑ์ ของ Arrow สร้างบรรยากาศในบ้านหรือตกแต่งร้านให้มีสไตล์ เป็นผลงานสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่าง บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ Arrow บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน) และนายศุภรัตน์ ชินะถาวร นักออกแบบจาก P.S.D. กับ Converterอย่างบริษัท ไทยนำ โพลีแพค จำกัด ที่เห็นประโยชน์ของถุงพลาสติกเหลือใช้จากห่อบรรจุภัณฑ์ Arrow จำนวนมาก จึงเกิดไอเดียนำพลาสติกเหลือใช้มารีไซเคิล พัฒนาด้วยกระบวนการต่างๆ ด้วยเทคนิคพิเศษออกมาเป็นเส้นพลาสติก ภายใต้ Concept ‘Innowaste Style Revival’ แล้วนักออกแบบจึงนำเส้นพลาสติกเหล่านั้นมาออกแบบคิดค้น และปรับใช้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งสอดเส้นพลาสติกเข้าไปด้านในแถบผ้ารีไซเคิล เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของเก้าอี้ หรือการนำเส้นพลาสติกมาพันตกแต่งเพื่อให้ดูสวยงาม จุดเด่นคือสามารถปรับเปลี่ยนเป็นชั้นวางโชว์สินค้า หรือจะเป็นเก้าอี้ก็ได้ เรียกได้ว่าเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์แฝงด้วยหัตถกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกได้อย่างสวยงาม
ส่วนสายแต่งบ้านต้องยกให้ผลลงานWaste to Weave โคมไฟ แจกัน และแผ่นรองแก้ว จากถ้วยสลัดที่เหลือทิ้งจากโรงงานของ บริษัท คิวพี (ประเทศไทย) จำกัด ถูกนำมาบด หลอม ผสมกับเม็ดพลาสติก Polypropylene ผสมสีสวยงามและรีดดึงเป็นเส้นด้วยกระบวนการทำหลอด โดยConverterจากบริษัท ทานตะวัน อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ถูกนำมาออกแบบโดยนักออกแบบ คือ นางสาวพลอยพรรณ ธีรชัย และนายเดชา อรรจนานันท์ สองดีไซน์เนอร์คู่คิดจาก Thinkk studio ที่เพิ่มทางเลือกของวัสดุไปสู่การทำงานด้วยทักษะฝีมือของชุมชนต่าง ๆ ด้วยกระบวนการแปรรูปโดยเครื่องจักรในการผลิตหลอด สร้างเส้นสานที่มีเอกลักษณ์ใหม่ น่าสนใจ เช่น การเพิ่มพื้นที่ผิวที่ลดความลื่น เน้นการใช้งานบริเวณโต๊ะอาหาร นับว่าเป็นการออกแบบที่เรียบน้อย สีสันโดดเด่น และมากด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัสดุได้เป็นอย่างดี
GC ยังคงมุ่งหน้าสนับสนุนและสานต่อโครงการนี้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการ Upcycling Upstyling และการเชื่อมโยงเครื่อข่ายการจัดการขยะสู่สาธารณะชนผ่านกิจกรรมต่างๆ เชื่อว่าผลงาน Eco-Design จากโครงการ Upcycling Upstyling ปี 2 จะเป็นทางเลือกและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal ได้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป