สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ว่าผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (เล็กโค) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นไปตามความคาดหมายของทุกฝ่าย นั่นคือผู้สมัครจากพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยม หรือกลุ่มขั้วอำนาจเก่าที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่ง ได้รับการเลือกตั้งในเกือบทุกที่นั่ง
ขณะที่นางสแตร์รี ลี ประธานพรรคประชาธิปไตยเพื่อการพัฒนาและความก้าวหน้าของฮ่องกง (ดีเอบี) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสนับสนุนจีนขนาดใหญ่ที่สุด ปฏิเสธเสียงวิจารณของฝ่ายค้านและสื่อมวลชนบางสำนัก ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ “ปราศจากความชอบธรรม” เนื่องจากไม่ใช่ “เสียงที่แท้จริงจากประชาชน” โดยยืนยันว่า การคัดเลือกผู้สมัครบนพื้นฐานของ “ความรักชาติ” จะช่วยยกระดับฮ่องกงได้ในทุกมิติ
ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้งยืนยันจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 30.2% จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเกือบ 4.5 ล้านคน ถือว่าลดลงเกือบครึ่ง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2559 และเป็นสถิติต่ำที่สุด นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2543 ซึ่งมีประชาชน 43.6% ออกมาใช้ลงคะแนนเลือกสมาชิกเล็กโค
อย่างไรก็ตาม นางแคร์รี แลม หัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง กล่าวถึงสถิติการออกมาลงคะแนนที่น้อยมาก ว่า “เพียงพอ” ที่จะสะท้อน “ความสนับสนุนของชาวฮ่องกงที่มีต่อการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้ง”
สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกเล็กโคครั้งนี้ “เป็นกระบวนการออกเสียงตามหลักประชาธิปไตย” ครั้งแรกของฮ่องกง ซึ่งเกิดขึ้นหลังสภาประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี) ในกรุงปักกิ่ง มีมติเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา บัญญัติกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1 และมาตรา 2 ของเบสิกลอว์ ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง “เพื่อการปฏิรูปกลไกการเลือกตั้งของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง” โดยมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกเล็กโคจาก 70 เป็น 90 ที่นั่ง
แต่สมาชิก 40 คน มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมาธิการเลือกตั้ง 1,500 คน ส่วนที่เหลืออีก 30 ที่นั่ง มาจากกระบวนการคัดสรรพิเศษ หมายความว่าจะมีสมาชิกเล็กโคเพียง 20 คนเท่านั้น มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และผู้สมัครทุกคน “ผ่านการปฏิญาณตนเรื่องความรักชาติ” เรียบร้อยแล้ว
อนึ่ง ก่อนการส่งมอบเกาะฮ่องกงอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว จีนและสหราชอาณาจักรลงนามร่วมกันใน “ปฏิญญาร่วมจีน-บริติช” เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2527 และมีผลอย่างเป็นทางการหลังทั้งสองประเทศร่วมให้สัตยาบันในเดือน พ.ค. 2528 ว่าด้วยการส่งมอบเกาะฮ่องกงจากสหราชอาณาจักร กลับคืนสู่จีนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 ก.ค. 2540 หลังครบสัญญา 99 ปี และรัฐบาลปักกิ่งจะมอบอธิปไตยให้แก่ฮ่องกง ในฐานะเขตบริหารพิเศษ สามารถมีระบบการเมืองและเศรษฐกิจตามหลักทุนนิยมได้ หรือ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 50 ปี หรือจนถึงปี 2590.
เครดิตภาพ : AP